ปัจจุบันเทคโนโลยีได้เข้ามามีบทบาทสำคัญมากมายในการใช้ชีวิตประจำวันของผู้บริโภค และยังส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านพฤติกรรมต่าง ๆ ของผู้บริโภคอีกด้วย ซึ่งการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ ส่งผลให้การเก็บข้อมูลและนำมาวิเคราะห์พฤติกรรมดังกล่าวเป็นสิ่งที่สำคัญ เพื่อเป็นข้อมูลแก่องค์กรให้เข้าใจถึงความต้องการของผู้บริโภคมากขึ้น และสามารถครองใจได้อีกด้วย ดังนั้น สายงานอาชีพที่เกี่ยวข้องกับการวิเคราะห์ข้อมูล นับว่าเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานเป็นจำนวนมาก ซึ่งอาชีพดังกล่าวคือ นักวิเคราะห์ข้อมูลนั่นเอง (Data Analyst) ซึ่งหลายคนมักจะสงสัยว่า นักวิเคราะห์ข้อมูลมีบทบาทสำคัญอย่างไรต่อองค์กร วันนี้ JobCute ก็เลยจะพาทุกท่านไปทำความรู้จักกันค่ะว่า นักวิเคราะห์ข้อมูลคือใครและเป็นบุคคลสำคัญขององค์กรได้อย่างไร เราไปดูกันเลยค่ะ
นักวิเคราะห์ข้อมูล (Data Analyst) คือ คนที่วิเคราะห์ข้อมูลพฤติกรรมของผู้บริโภค เพื่อหาแนวโน้มหรือวิธีการแก้ปัญหาที่เกิดจากความผิดปกติต่าง ๆ โดยอาศัยประสบการณ์วิธีการทางสถิติในการแก้ปัญหา นอกจากนี้ นักวิเคราะห์ข้อมูลยังเป็นบุคคลที่สำคัญมากสำหรับองค์กรอีกด้วยและยังเป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางมากกว่า Data Scientist อย่าง Marketing Analysis และ Logistics Analysis เป็นต้น
ขอบเขตหน้าที่การงานของนักวิเคราะห์ข้อมูล
หน้าที่การงานของนักวิเคราะห์ข้อมูลหลัก ๆ คือ จะเน้นการวิเคราะห์และทำความเข้าใจของผู้บริโภคเป็นหลัก และนำมาปรับปรุงการบริการขององค์กร เพื่อให้การบริการนั้นตอบโจทย์ผู้บริโภคได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้ หน้าที่หลักของนักวิเคราะห์ข้อมูลที่ทาง Jobcute ได้เสาะแสวงหามีดังต่อไปนี้
1. การนำเข้าข้อมูล (Data Entry) ถือว่าเป็นงานที่สำคัญมากอีกอย่างหนึ่งเลยก็ว่าได้ โดยการนำเข้าข้อมูลที่มาจากหลายแหล่ง และข้อมูลที่ได้รับมานั้นเป็นข้อมูลที่มีรูปแบบแตกต่างกันออกไปมาแปลงข้อมูลให้อยู่ในรูปแบบที่ถูกต้อง และพร้อมใช้งาน
2. Analytic / Data mining เป็นทักษะที่ต้องวิเคราะห์ความสัมพันธ์ของข้อมูลว่าเป็นอย่างไร และนำข้อมูลที่วิเคราะห์นั้นไปใช้ประโยชน์ในทางธุรกิจ ซึ่งในบางองค์กรได้มีการสนับสนุนให้พนักงานตำแหน่งนี้ได้ฝึกวิเคราะห์ข้อมูลและประยุกต์ใช้ข้อมูลกับธุรกิจอีกด้วย
3. การทำรายงาน (Reporting) นักวิเคราะห์ข้อมูลต้องทำรายงานในการวิเคราะห์ข้อมูล เพื่อไปนำเสนอให้กับผู้บริหาร ซึ่งการทำรายงานนั้น ต้องเป็นไปในรูปแบบที่เข้าใจง่าย อย่างไรก็ตาม ในการทำรายงานสรุปประจำวัน ประจำเดือน หรือประจำปีนั้น มีข้อมูลเป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นหน้าที่ของนักวิเคราะห์ข้อมูลที่ต้องทำให้การรายงานทั้งหมดและการแสดงข้อมูลออกมาอย่างเข้าใจได้ง่าย
4. สนับสนุนแผนกอื่น ๆ (Service / Support) เมื่อวิเคราะห์ข้อมูลเสร็จแล้ว นักวิเคราะห์ข้อมูลจะนำข้อมูลดังกล่าวนั้น ไปสนับสนุนการทำงานของแผนกอื่น ๆ ได้สรุปตามความต้องการและไปใช้งานต่ออย่างง่ายดาย โดยผ่านระบบในที่ทำงาน อย่างระบบบริหารจัดการลูกค้าสัมพันธ์ หรือ ระบบบริหารจัดการข้อมูล เป็นต้น
5. การจัดการข้อมูล (Data Management) นำข้อมูลที่ผ่านการวิเคราะห์ทั้งหมด จัดให้เป็นหมวดหมู่และพร้อมใช้งานได้โดยง่ายดาย ซึ่งการจัดการข้อมูลอาจจะเกี่ยวข้องกับหน้าที่หรือไม่เกี่ยวข้องก็ได้
นักวิเคราะห์ข้อมูลต้องมีความรู้พื้นฐานอะไรบ้าง
ตามที่ได้กล่าวไว้ข้างต้นเกี่ยวกับขอบเขตการทำงานของนักวิเคราะห์ข้อมูล ว่าการทำงานอาจแตกต่างกันออกไป ล้วนขึ้นอยู่กับระดับความสามารถของแต่ละคนอีกด้วย ซึ่งหากใครต้องการทำงานในสายงานนี้ ต้องมีความรู้ด้านการวิเคราะห์ข้อมูล ตลอดจนเครื่องมือต่าง ๆ อีกด้วย เราไปดูกันเลยค่ะ ว่าต้องมีความรู้พื้นฐานอะไรบ้าง
- MS Excel หลายคนอาจจะเคยผ่านการใช้ Excel กันมาบ้าง แต่จะใช้แค่เพียงเบื้องต้นเท่านั้น แต่ Excel ยังเป็นโปรแกรมพื้นฐานที่สามารถทำอะไรได้หลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการวิเคราะห์ข้อมูลหรือการจัดทำรายงานด้วยก็ตาม ซึ่งถือว่าเป็นโปรแกรมที่ทุกองค์กรใช้กัน
- MS Access เป็นโปรแกรมที่ทำงานได้เร็วและง่ายกว่า MS Excel โดยเฉพาะกับข้อมูลที่มีจำนวนมากหรือขนาดใหญ่ ซึ่งการใช้ MS Access สามารถสร้าง Query ได้ง่าย อีกทั้งยังสามารถเรียกดูข้อมูลได้และไม่จำเป็นต้องเขียนคำสั่งอีกด้วย
- Database เมื่อเป็นนักวิเคราะห์ข้อมูลแล้ว ความรู้เรื่องฐานข้อมูลก็นับว่ามีความสำคัญมาก เนื่องจากต้องจัดเก็บข้อมูลที่มีขนาดใหญ่และใช้พื้นที่ในปริมาณมาก เพื่อรองรับการขยายที่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ต้องมีทักษะการเก็บข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นระเบียบ ง่ายต่อการใช้งานอีกด้วย
- Data Relational นักวิเคราะห์ข้อมูลจำเป็นต้องรู้เกี่ยวกับความสัมพันธ์ของข้อมูลที่แสดงอยู่ในโปรแกรม Excel โดยมี 3 ตารางที่ต้องเช็คว่ามีความสัมพันธ์กันอย่างไร ซึ่งตารางดังกล่าวนั้น ได้แก่ ตารางยอดขาย ตารางข้อมูลพนักงานขาย และตารางลูกค้า เป็นต้น
- SQL เป็นความรู้พื้นฐานในการดึงข้อมูลเสมือนที่มีอยู่ในระบบ เพียงแค่เขียนเงื่อนไขต่าง ๆ เช่น Where, and, or, join, select, from และ group เป็นต้น เพื่อดึงข้อมูลเฉพาะออกมา
เป็นอย่างไรกันบ้างคะกับนักวิเคราะห์ข้อมูล ที่เป็นบุคคลสำคัญขององค์กร ซึ่งหลาย ๆ คนอาจจะมองว่า เป็นงานที่ยากและซับซ้อน แต่ถ้าหากว่าเรามีความตั้งใจและเปิดใจเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ Jobcute รับประกันเลยค่ะว่า คุณจะรู้สึกสนุกไปกับงานและเติบโตในสายงานนี้อีกด้วย เพียงแค่ไม่ย่อท้อและตั้งใจทำงานให้สุดความสามารถ เพียงแค่นี้คุณก็ได้เป็นนักวิเคราะห์ข้อมูล บุคคลที่สำคัญขององค์กรได้เลยค่ะ