9 เทคนิคง่าย ๆ ของเจ้านายที่ลูกน้องอยากเจอ
หลายคนที่มีเจ้านายหรือหัวหน้างานต่างก็ต้องคาดหวังอยากให้มีเจ้านายตามที่เราต้องการและเข้าใจลูกน้องอย่างเรา ๆ แต่จะเป็นเจ้านายแบบไหนกันละที่เราต้องการ คงจะไม่มีใครอยากเปลี่ยนงานบ่อย ๆ โดยไม่มีเหตุจำเป็น ไม่ว่าจะเป็นคนในแผนกบัญชี แผนกการตลาด หรือแผนกไหนขององค์กรก็ตาม ถ้าเป็นไปได้เราก็คงจะอยากอยู่กันแบบครอบครัว มีอะไรก็ช่วยเหลือเกื้อกูลกันเรื่อย ๆ แต่เพราะแต่ละคนมีที่มาไม่เหมือนกัน นิสัยใจคอไม่เหมือนกัน การปรับตัวเลยยากกันสักหน่อย บ่อยครั้งที่คนตำแหน่งสูง ๆ ก็ต้องใช้อำนาจลงมาจัดการบ้างเพื่อให้แต่ละคนทำหน้าที่ของตัวเองให้ดี บางครั้งก็ไม่อยากจะทำเลยเพราะดูเหมือนเป็นการฝืนใจกัน แต่เพื่อให้งานเดินต่อไป เราก็ต้องทำ ไม่ใช่เรื่องที่ผิด หากเจ้านายจะใช้อำนาจเพื่อควบคุมลูกน้อง แต่ก็ต้องมีความเหมาะสมในแต่ละสถานการณ์ด้วย ต้องระลึกเสมอว่าเราทำงานกับคน ไม่ใช่เครื่องจักรที่คอยรับแต่คำสั่งจากเรา เราต้องมีการซื้อใจกันเพื่ออยู่ด้วยกันไปนาน ๆ หัวหน้าที่ดีคืออะไร? เจ้านายที่ดีเป็นแบบไหน? ในแต่ละคนคงมีอุดมคติที่ไม่เหมือนกัน แต่โดยรวมแล้วใครก็อยากได้เจ้านายในแบบนี้ด้วยกันทั้งนั้น วันนี้ JobCute จะนำเคล็ดลับดี ๆ ที่เจ้านายทั้งหลายพึงมี เพื่อที่จะได้รักษาลูกน้องหรือผู้ใต้บังคับบัญชาให้อยู่กับเราหรือองค์กรไปนาน ๆ มาฝากกันนะคะ
1.วันหยุด-วันลายาว : ลูกน้องก็คงต้องการที่จะลายาว ๆ เพื่อไปชาร์จแบตของตัวเองท่องเที่ยวตามสถานที่ต่าง ๆ แต่ขอให้บอกมาได้เลยว่าอยากได้ช่วงไหน จะให้ลาได้เต็มที่ขอเพียงแค่ต้องบอกกันล่วงหน้านะ เพื่อจะได้บริหารงาน บริหารคนได้ถูกระหว่างที่คุณไม่อยู่ เราเข้าใจดีว่าคุณก็ต้องการผ่อนคลายบ้าง ร่างกายคนเรามันก็ต้องมีล้ามีเหนื่อยสะสมจากการทำงานมาเป็นปีบ้าง
2.ตรงไปตรงมา ผลักดันลูกน้องที่มีศักยภาพ : ไม่จำเป็นต้อนประจบประแจงเจ้านายเพื่อให้ได้มาซึ่งความก้าวหน้า เอาใจแลกใจกันดีกว่า ตรงไปตรงมา คุณอยากได้อะไรบอกกันมาตรง ๆ คุณคิดว่าเจ้านายบกพร่องตรงไหนบอกมา ถ้าคุณทำงานเก่ง ฉายแววให้เห็น จะช่วยผลักดันคุณให้เก่งไปอีก อาจจะส่งไปอบรมฝึกงานในต่างประเทศ หรือฝึก Skill เพิ่มทักษะอื่น ๆ เพิ่มเติมก็ว่ากันไป
3.ให้เครดิตลูกน้อง : ถ้างานที่ออกมาเป็นฝีมือของลูกน้องจริง ๆ ไม่ได้ลอกใครมา หัวหน้างานหรือเจ้านายก็พร้อมจะขอบใจคุณ ถ้าคุณทำงานมาเป็นทีมก็บอกว่ามันเป็นผลงานของ “เรา”บอกกันตามตรงการทำงานมันก็ต้องมีแบ่งงานกันทำงานเดี่ยว ๆ บ้างทำเป็นทีมกันบ้าง คนที่เป็นเจ้านายย่อมจะดูออก
4.เรียกมาคุย : เจ้านายที่ดีเมื่อมองเห็นปัญหาที่เกิดขึ้นก่อน ก็จะไม่รอให้มีคนมาฟ้องก่อน แต่จะต้องเรียกมาคุยเลยว่าคุณโอเคหรือไม่? มีปัญหาอะไรไหม? พูดจากันแบบว่าเคลียร์กันตรง ๆ แมน ๆ ไม่นอกประเด็นกันเลย
5.ใครจะใช้เด็กเรา : กรณีหากคนที่ไม่ใช่หัวหน้างานเราต้องการเรียกใช้งานเรา เขาจะต้องเป็นคนที่ต้องไปขออนุญาตกับเจ้าหน้าหรือหัวหน้างานของเราเสียก่อน เจ้านายเราไม่อยากให้ลูกน้องเหนื่อยเพิ่มโดยไม่จำเป็น เพราะแต่ละคนย่อมมีหน้าที่เป็นของตัวเองอยู่แล้ว
6.เจ้านายที่ดีพร้อมจะเถียงและออกหน้าแทนลูกน้อง : หากพิสูจน์ได้ว่าสิ่งที่ถกเถียงกันอยู่นั้นไม่เป็นความจริงและลูกน้องเราไม่ผิดจริง เจ้านายที่ดีก็พร้อมจะงัดหลักฐานมาสู้กันให้เป็นประจักษ์ทุกสายตา แต่ถ้าลูกน้องเราผิดจริง เราก็พร้อมจะตักเตือน ถามที่มาที่ไป ให้ขอโทษอีกฝ่ายด้วยเช่นกัน
7.เจ้านายพร้อมจะลุยงานกับลูกน้อง : การเป็นหัวหน้า ไม่ได้แปลว่าต้องรับผิดชอบเฉพาะงานระดับสูงแต่เพียงอย่างเดียว งานเล็กงานน้อย งานกรรมกรก็ต้องทำได้อย่างไม่มีข้อจำกัดไม่จำเป็นต้องรอใครก่อนเมื่อมีโอกาสทำได้ก็ลงมือทำทันที หรือใครมีปัญหาติดขัดที่ตรงไหน ก็เดินเข้ามาขอคำปรึกษาได้เลย อย่าลุยคนเดียวโดยที่ไม่รู้เรื่องรู้ราวอะไรเลย ไม่อย่างนั้นคุณจะไม่มีทางได้พัฒนาฝีมือและงานก็จะออกมาไม่มีประสิทธิภาพ
8.กระจายงาน : ให้ทุกคนได้ทำงานตามศักยภาพแบบพอดี ไม่ให้ใครทำงานหนักเกินไป overload มากเกินไป ทุกงานต้องมีความชัดเจน เท่าเทียม และต้องมีการกำหนดไว้ด้วยว่าจะให้ใคร back up ใคร ในกรณีที่อีกคนป่วย ลา มีเหตุฉุกเฉินที่ไม่สามารถทำงานได้
9.อย่างน้อยมีช่วงเวลาสานสัมพันธ์กัน มีการนัดสังสรรค์ปาร์ตี้กันบ้างตามโอกาส เช่น ทำอาหารมาเลี้ยงกัน, ชวนกันไปแฮงค์เอาท์หลังเลิกงาน ทุกคนจะได้สนิทกันมากขึ้น รู้สึกว่าเป็นครอบครัวเดียวกัน อยากอยู่กับทีมไปนาน ๆ เวลาทำงานจะได้กล้าพูดกล้าคุยกันได้มากขึ้นใจเขาใจเราต่างก็มีหัวใจ คนอื่นก็มีหัวใจ เราเหนื่อยเป็น คนอื่นก็เหนื่อยเป็น มองเพื่อนร่วมงานให้เหมือนครอบครัวเดียวกัน เจ้านายจะต้องใส่ใจต่อลูกน้องอย่างเท่าเทียมกัน ไม่ลำเอียง
เพียงง่าย ๆ แค่นี้คิดว่าคงไม่ยากเกินไปสำหรับเจ้านายหรือหัวหน้างานที่จะต้องยึดถือปฏิบัติให้เป็นนิสัย แล้วลูกน้องดี ๆ ก็จะไม่มีวันจากเราและองค์กรของเราไปไหนอย่างแน่นอนนะคะ