ยกระดับภาคบริการอสังหาริมทรัพย์ สร้างแรงงานคุณภาพ
สำหรับในช่วงเดือนพฤษภาคมของทุกปี กลุ่มคนทำงานในภาคแรงงานต่างก็มีความสนใจจดจ่อกับการประกาศปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของรัฐบาลว่าจะออกมาในทิศทางไหน หากออกมาเป็นที่น่าพอใจก็จะเป็นการสร้างรอยยิ้มให้กับบุคลากรในภาคแรงงานที่ถือเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและพัฒนาประเทศชาติที่สำคัญ ภาคอสังหาริมทรัพย์เองก็เป็นอีกธุรกิจหนึ่ง ที่ต้องอาศัยกลุ่มแรงงานในการขับเคลื่อนและพัฒนาโครงการใหม่ ๆ ออกสู่ตลาดสำหรับผู้บริโภคในทุก ๆ ปี อีกทั้งกลุ่มแรงงานยังมีบทบาทหลังจากส่งมอบโครงการให้ผู้ซื้อในรูปของผู้ดูแลโครงการ ทั้งการดูแลพื้นที่ส่วนกลาง การดูแลซ่อมบำรุงระบบวิศวกรรมอาคาร และการดูแลความปลอดภัยในโครงการ เป็นต้น
ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม กลุ่มแรงงานที่อยู่ในภาคบริการหลังการขายถือเป็นกลุ่มที่มีความได้เปรียบในด้านการหาโอกาสในการยกระดับฝีมือ ยกระดับรายได้ และยกระดับคุณภาพชีวิตได้เป็นอย่างดี สำหรับปัจจุบันพบว่าอาคารสูงในประเทศไทยยังมีแนวโน้มเติบโตและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในกลุ่มโครงการอสังหาริมทรัพย์ระดับ Luxury (ที่มีราคาตั้งแต่ 200,000 บาทต่อตารางเมตรขึ้นไป) และ Super Luxury ที่มีการขยายตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องและมีจำนวนที่เพิ่มขึ้น พบว่าการเติบโตของตลาดอสังหาริมทรัพย์ระดับ Luxury ย้อนหลังไปตั้งแต่ปี 2555 – 2561 มีอัตราการเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 50% ในขณะที่ตลาดแรงงานที่ให้บริการด้านอสังหาริมทรัพย์ เติบโตเฉลี่ยเพียง 5% ต่อปีเท่านั้น จึงน่าจะมีความต้องการแรงงานมากขึ้น และการเพิ่มขึ้นของโครงการกลุ่มนี้เท่ากับเป็นการเปิดโอกาสให้แรงงานภาคบริการได้พัฒนาความสามารถเพื่อยกระดับไปสู่การเป็นแรงงานฝีมือ
ส่วนการจะยกระดับฝีมือและการให้บริการของเหล่าแรงงานนี้ กลุ่มนายจ้างเองถือว่าเป็นหัวใจสำคัญที่จะเข้ามาให้การสนับสนุนให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เช่นการตั้งสถาบันเพื่อการเรียนรู้สำหรับพนักงานที่ต้องการพัฒนาเสริมทักษะและสร้างโอกาสให้ตนเอง และยังเป็นการพัฒนาบุคลากรขององค์กรให้มีความสามารถเพื่อให้เกิดการบริการได้มาตรฐานและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยอาจจะต้องออกแบบหลักสูตรพิเศษที่มีประโยชน์และนำไปประยุกต์ใช้ได้ในการทำงานจริง คิดค้นบริการเฉพาะด้านที่ตอบโจทย์ความต้องการลูกค้า ตลอดจนได้มีการร่วมมือกับองค์กรภายนอกที่เป็นผู้เชี่ยวชาญพิเศษในการอบรมพนักงานเฉพาะด้าน อย่างเช่นสถาบัน PLUS Eduplex ที่มีหลักสูตรเฉพาะด้านโดยพัฒนามาจากการสำรวจความต้องการจริงของลูกค้า ยกตัวอย่างเช่น การนำผู้เชี่ยวชาญระดับประเทศเข้ามาอบรมอาชีพบัตเลอร์ (Butler) เพื่อเตรียมความพร้อมในการให้บริการผู้อยู่อาศัยในบ้านในโครงการคอนโดมิเนียมระดับ Luxury การร่วมมือกับโรงพยาบาลชั้นนำในการจัดอบรมพนักงานเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับโครงการคอนโดมิเนียมในรูปแบบ well-being community เพื่อให้บริการกลุ่มลูกค้าที่ให้ความสำคัญเรื่องการดูแลสุขภาพ รวมถึงการพัฒนาฝีมือด้านงานช่างให้กับแรงงานหญิงผ่านหลักสูตร Her Forward เพื่อเพิ่มทางเลือกใหม่ในการให้บริการลูกบ้านที่เป็นผู้หญิง เป็นต้น
หากดูจากอัตราการเติบโตของอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทยโดยเฉพาะคอนโดมิเนียมแล้ว โอกาสในการสร้างงานในภาคบริหารจัดการอสังหาริมทรัพย์นี้ถือว่ามีสูงมาก ในขณะที่บุคลากรมีแนวโน้มเติบโตไม่ทันต่อความต้องการ แต่หากผู้ประกอบการภาคอสังหาริมทรัพย์เองเข้ามามีส่วนสร้างและพัฒนาแรงงานทั้งจากภายในองค์กรเอง หรือภายนอกองค์กรโดยถ่ายทอดให้ความรู้แก่ภาคการศึกษาที่ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงการร่วมพัฒนาหลักสูตรในสถาบันการศึกษาเท่านั้น แต่การเปิดให้เยี่ยมชมการทำงาน หรือการรับนักศึกษาเข้ามาฝึกงานก็จะเป็นการสร้างโอกาสอย่างหนึ่งที่ยิ่งใหญ่ และยังช่วยยกระดับการให้บริการในภาคอสังหาริมทรัพย์ได้อย่างยั่งยืนเช่นกัน