เมื่อเราสมัครงานนั้นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เลยก็คือ การสัมภาษณ์งานเพราะเป็นของคู่กันเลยก็ว่าได้ หลังจากที่เราไปสมัครงานเรียบร้อยแล้ว สิ่งที่ฝ่ายบุคคลจะตอบกลับมาก็คือ จะติดต่อไปอีกทีนะคะ และเราก็ทำได้เพียงนั่งรอคอยโทรศัพท์ หรืออีเมลจากทางฝ่ายบุคคล แต่นั่น ก็จะเป็นสิ่งที่ดีที่จะทำให้เราได้มีเวลามากพอในการเตรียมตัว หรือเตรียมความพร้อมสำหรับการสัมภาษณ์ เพราะแต่ละบริษัทนั้นอาจจะมีการสัมภาษณ์ที่ไม่เหมือนกันอย่างแน่นอน แต่ก็จะมีความคล้าย ๆ กัน ในเรื่องของคำถามต่าง ๆ ในการสัมภาษณ์ ซึ่งไม่ว่าคุณจะอยู่จังหวัดไหนก็ตาม เช่น กรุงเทพฯ ภูเก็ต คุณก็ต้องเจอกับการสมัครงานและการสัมภาษณ์งานอย่างแน่นอน  และเช่นเคยวันนี้เราจะมาพาไปรู้จักและทำความความใจกับสิ่งดี ๆ เกี่ยวกับการเตรียมความพร้อมในการสัมภาษณ์งาน เกี่ยวกับการเตรียมตัวตอบคำถาม ตอบคำถามอย่างไรให้เป็นวิธีที่ตอบแบบโดดเด่นที่สุด ตอบแล้วฝ่ายบุคคลหรือผู้ที่สัมภาษณ์งานนั้นมีความประทับใจไม่รู้ลืมเลยทีเดียว

การสัมภาษณ์งานนั้นไม่ใช่เรื่องเล่น ๆ เป็นการสร้างสถานการณ์บังคับให้คุณต้องพิสูจน์ว่าตัวเองเป็นคนที่มีความสามารถมากน้อยเพียงไร เป็นสนามรบย่อย ๆ เลยเชียว อาจจะไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ สำหรับบางคน โดยเฉพาะน้อง ๆ นักศึกษาที่เพิ่งจบใหม่ วันนี้เราได้เตรียมทักษะและเทคนิคในการตอบคำถามตอนสัมภาษณ์งาน ที่มักจะพบบ่อย ๆ เพื่อที่จะทำให้เรามีความพร้อมที่จะสัมภาษณ์อย่างอยู่หมัด ดูไม่น่าเบื่อและเกิดความประหม่าจนเกินไป มีอะไรบ้างนั้นไปดูกันเลยค่ะ

  1. คำถาม : คุณรู้อะไรเกี่ยวกับบริษัทของเราบ้าง ?

คำถามนี้เป็นคำถามยอดฮิตตลอดกาล อาจจะฟังแล้วเป็นคำถามง่ายๆ แต่ต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษ ก่อนจะไปสัมภาษณ์งาน ไม่ว่าจะอยู่ในขั้นตอนไหน เราจะต้องมีการหาข้อมูลเกี่ยวกับบริษัทมาแล้วอย่างถี่ถ้วน ซึ่งสิ่งนี้ไม่ควรหยุดอยู่ที่การนั่งอ่านโปรไฟล์ของบริษัท หรือท่องจำพันธกิจของบริษัทจนขึ้นใจ ลองเข้าไปส่องโซเชียลมีเดียของบริษัท ดูว่าเขาทำอะไรกันอยู่บ้าง อ่านบทความเกี่ยวกับบริษัท หรือแม้กระทั่งบุคคลที่น่าสนใจที่ทำงานอยู่ในบริษัทนั้น ๆ  สิ่งนี้จะช่วยให้เราไม่ใช่แค่เข้าใจว่าบริษัทนี้ทำอะไร แต่ยังทำให้เรารู้ว่าบริษัทมาถึงจุดนี้ได้อย่างไรและเพราะอะไร ก็จะเป็นการสร้างความประทับใจอย่างหนึ่งให้กับผู้ที่กำลังสัมภาษณ์เราอยู่ ณ ตอนนั้นแน่นอนค่ะ

  1. คำถาม : อะไรคือเหตุผลให้คุณออกจากที่ทำงานเก่า ?

คำตอบของข้อนี้ต้องมีความคิดรอบคอบก่อนที่จะตอบออกไป การที่จะบอกว่า “ไม่ชอบเจ้านายเก่า” หรือ “เงินเดือนไม่ดี” อาจเป็นเหตุผลที่แท้จริงที่คุณลาออกจากบริษัทเก่า แต่คุณจะต้องหาวิธีพูดให้ดูราบรื่นกว่านั้น ลาออกจากงานเพราะวิสัยทัศน์ไม่ตรงกันกับหัวหน้า ? ลองถามตัวเองก่อนว่าเพราะอะไร ใช่วิธีทำงานแบบบงการลูกน้องทุกอย่างหรือเปล่า ถ้าใช่ ก็ต้องหาวิธีพูดแบบบัวไม่ให้ช้ำน้ำไม่ให้ขุ่นและเสนอว่าคุณอยากจะพัฒนาในส่วนนั้นได้อย่างไร หรือถ้าหากหัวหน้าของคุณไม่น่าพิศมัย ตอนสัมภาษณ์ก็ควรบอกไปว่า คุณคิดว่ามันลำบากที่จะทำงานในบรรยากาศที่ไม่เปิดกว้างต่อการสื่อสาร และไม่เปิดรับคำติชม หากได้มีการสื่อสารมากกว่านี้จะทำให้ตามงานรายสัปดาห์ได้มากขึ้น ต้องจำไว้ว่าจริงใจมากจนเกินไป อาจทำคนเข้าใจว่าคุณเป็นคนเจ้าคิดเจ้าแค้นได้

  1. คำถาม : คุณอยากทำอะไรในงานใหม่นี้บ้าง

ก่อนจะไปสัมภาษณ์ คุณต้องลองเตรียมตัวที่จะรับตำแหน่งนั้นมาไว้ก่อน การเตรียมใจ จินตนาการไว้แบบนี้ จะเป็นการฝึกความมั่นใจ และยังช่วยให้เราเข้าใจภาระหน้าที่ใหม่ของเราได้ดีขึ้น นึกให้ออกว่าคุณอยากจะทำอะไรในนั้นบ้างภายในสามเดือนต่อจากนี้ หรือว่าอยากจะเปลี่ยนบทบาทให้มีความกว้างขวางมากขึ้น นี่คือจุดที่คุณจะสามารถแสดงให้เห็นถึงศักยภาพว่าคุณสามารถทำอะไรให้กับบริษัทได้บ้าง ยิ่งไปกว่านั้นมันจะทำให้บริษัทสามารถวางแผนล่วงหน้าให้กับตำแหน่งของคุณและช่วยให้บริษัทเติบโตได้เร็วขึ้นด้วย

เงินเดือนที่คุณคาดหวัง ?
เงินเดือนที่คุณคาดหวัง ?
  1. คำถาม : เงินเดือนที่คุณคาดหวัง ?

สำหรับคำถามนี้นั้น ต้องมีการค้นคว้าเพิ่มเติมมากหน่อย เพื่อที่จะรู้ว่าคนอื่น ๆ ที่มีประสบการณ์ และสายงานใกล้เคียงกันกับเราเขาได้กันเท่าไหร่ และสำหรับเงินเดือนในแต่ละตำแหน่งก็ย่อมแตกต่างกันไป ไม่ว่าจะเป็นฐานเงินเดือนของ บัญชี หรือ เงินเดือนของ พนักงานขายอสังหาริมทรัพย์ เพราะเงินเดือนของ พนักงานขายอาจจะต้องมีการบวกค่าคอมมิชชั่น เป็นต้น  แต่ถ้ารู้สึกว่างานเก่าเงินเดือนต่ำจนเกินไป รีบบอกก่อนเลยพร้อมกับเหตุผลว่าทำไมคุณถึงคิดแบบนั้น คุณอาจอยากโกหกเงินเดือนเก่าให้สูงๆ เพื่อที่จะได้การยกระดับเงินเดือนขึ้นไป แต่มันเสี่ยงเกินไปที่จะทำแบบนั้น บริษัทส่วนใหญ่ในปัจจุบันมีการเช็คจากสลิปเงินเดือนจากที่ทำงานเก่ากันแล้ว คำตอบที่ปลอดภัยที่สุดคือบอกความจริง และบอกไปว่าคุณจะพอใจกับเงินเดือนที่มากขึ้น เป็นร้อยละ 20 ถึง ร้อยละ 30 เป็นต้นนะคะ

  1. คำถาม : คุณมีคำถามอะไรไหม ?

คำตอบคือ “มี” คุณต้องมีคำถามสำหรับผู้สัมภาษณ์เสมอ ไม่ใช่เพื่อที่จะให้เขาประทับใจ แต่นี่เป็นโอกาสไขข้อข้องใจของตัวเองด้วย นี่อาจเป็นโอกาสสุดท้ายที่จะสร้างความประทับใจต่อบริษัท เพราะฉะนั้นอย่ารีบตัดจบเสียก่อน ถ้านึกไม่ออก ให้ถามเกี่ยวกับตำแหน่งหน้าที่ที่จะได้รับ ถามว่าคุณจะขึ้นตรงกับใคร นี่เป็นตำแหน่งใหม่หรือเรามาทำงานต่อจากใครหรือเปล่า แค่พยายามถามคำถามที่เกี่ยวข้องกับงานและไม่ใช่สิ่งที่รู้อยู่แล้ว ไม่อย่างงั้น รู้เลยนะว่าไม่ได้ตั้งใจฟัง

คราวนี้ใคร ๆ ที่กำลังมองหางานใหม่หรือน้อง ๆ ที่จบใหม่ที่กำลังเตรียมความพร้อมในการตอบคำถามตอนสัมภาษณ์ คงหายเครียดลงไปบ้างนะคะ อย่างน้อยเราก็ได้รู้ว่า จะมีการถามเกี่ยวกับอะไรบ้าง เราจะได้ฝึก และหาข้อมูลเพื่อให้เกิดความมั่นใจในการตอบได้อย่างฉะฉาน ไม่ตะกุกตะกัก เพื่อสร้างความประทับใจให้กับผุู้สัมภาษณ์ค่ะ

 

 

ความคิดเห็นของคุณ

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่