สังคมในปัจจุบันนั้นจะเต็มไปด้วยการแข่งขันมีธุรกิจเกิดใหม่ขึ้นมาอย่างมากมาย ซึ่งที่เป็นกระแสร้อนแรงคงจะเลี่ยงไม่ได้ที่จะไม่พูดถึง ‘สตาร์ทอัพ’ (Startup) ที่ใครหลายต่อหลายคนได้ตั้งคำถามถึงความแตกต่างของสตาร์ทอัพกับบริษัททั่วไป เทรนด์ของ Startup ถึงได้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วจนมีผู้คนมากมายได้รับการตอบรับจากบริษัทเหล่านี้ ให้เข้าร่วมทำงานด้วย ในขณะที่บางประเด็นที่ได้เกิดการตั้งคำถามถึงที่มาและความมั่นคงของบริษัทกลุ่มดังกล่าว บทความในวันนี้นั้นทาง JobCute จะทำให้คุณเข้าใจในระบบและแนวทางการดำเนินงานของบริษัทกลุ่ม Startup มากยิ่งขึ้น

บริษัท Startup หมายถึง “บริษัทเกิดใหม่” หรือ “ธุรกิจแรกเริ่ม” ที่มีจุดกำเนิดจากคำที่นิยมใช้เรียกกลุ่มบริษัททางด้านเทคโนโลยี ใน Silicon Valley ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งธุรกิจนี้อาจจะเริ่มมาจากคนกลุ่มเล็ก ๆ เพียงไม่กี่คนที่เต็มไปด้วยความคิดสร้างสรรค์มีความฝันอยากจะทำสิ่งแปลกใหม่ และการที่คนกลุ่มนี้เลือกที่จะลงมือปฏิบัติการ และสร้างสิ่งใหม่ ๆ โดยนำเสนอแนวความคิด และนวัตกรรมใหม่ๆ ตลอดจนนำเสนอผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาดสังคม อันเป็นกรอบแนวคิดที่นำมาสู่การก่อตัวของบริษัท Startup และแน่นอนว่าไม่ใช่เรื่องง่ายกับการเริ่มต้นทำสิ่งใหม่ซึ่งมักจะมีอุปสรรค และปัญหาที่ท้าทายความสามารถเพื่อทดสอบศักยภาพในการแก้ปัญหาของเราอยู่เสมอ แต่ถ้าบุคคลเหล่านั้น สามารถฝ่าฟัน และแก้ไขปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้ว การประสบความสำเร็จจากการเริ่มทำธุรกิจนั้นก็คงไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป อย่างเช่นบริษัทยักษ์ใหญ่ อย่าง Google ก็เคยผ่านการเป็น Startup มาก่อนแล้วเช่นกัน

จากกระแสที่กำลังมาแรงของ Startup ทำให้คนรุ่นใหม่หันมาให้ความสนใจที่จะเริ่มทำธุรกิจเป็นของตัวเอง ในปัจจุบันมีการเปิดบริษัทแรกเริ่มในประเทศไทยอย่างแพร่หลายทั้งบริษัทที่มาจากคนไทยเอง และบริษัทต่างชาติ ก็ได้เปิดโอกาสให้กับกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่อยากจะเริ่มต้นทำงานผ่านการหาประสบการณ์แปลกใหม่ที่ไม่ได้จากการทำงานในองค์กรทั่วไป และพร้อมที่จะรับมือกับทุกอุปสรรคที่จะเกิดขึ้นระหว่างการทำงาน ซึ่งการทำงานกับบริษัท Startup นั้นอาจจะไม่ใช่เรื่องง่าย แม้ว่าจะได้การตอบรับจากบริษัทให้เข้าร่วมงานแล้ว แต่ก็ยังมีจุดที่สร้างความกังวลและความไม่แน่นอนหลายอย่าง การทำงานกับบริษัท Startup มีทั้งข้อดี และข้อเสียต่าง ๆ ที่คุณควรทำความเข้าใจกับความต้องการของตัวเองเสียก่อน ต่อมาก็คือ การเข้าใจแนวทางการดำเนินงานของบริษัท โดยที่การตัดสินใจของคุณนั้นจะคุ้มค่ากับความเสี่ยงหรือไม่ขึ้นอยู่กับว่าคุณอยากเปิดโอกาสให้ตัวเองมากน้อยเพียงใด ถ้าการเสี่ยงครั้งนี้จะเป็นใบเบิกทางสู่ความก้าวหน้าทางหน้าที่การงานของคุณในอนาคตโอกาสดี ๆ อาจจะรอคุณอยู่ในบริษัท Startup ก็เป็นได้

โอกาสต่าง ๆ ที่คุณจะได้พบเมื่อร่วมงานกับบริษัท Startup กันได้ดังต่อไปนี้

1.โอกาสที่จะได้ร่วมทำงานกับผู้บริหารอย่างใกล้ชิด ด้วยเหตุผลที่บริษัทเพิ่งเริ่มก่อตั้งไม่นาน บวกกับพนักงานที่มีจำนวนจำกัด แน่นอนว่าผู้บริหารจะไม่ได้ทำหน้าที่แค่วางแผนเพียงอย่างเดียว แต่ต้องลงมาปฏิบัติงานร่วมกับพนักงานด้วย ซึ่งจุดนี้ถือเป็นโอกาสดีที่เราจะได้สังเกต และเรียนรู้วิธีการทำงาน รวมถึงกระบวนการคิดวิเคราะห์ จากผู้บริหารของคุณโดยตรงไม่ว่าจะเป็นการปฏิบัติงาน หรือการตัดสินใจแก้ปัญหาต่าง ๆ โอกาสที่จะได้ทำงานที่หลากหลายไม่ว่าคุณจะสมัครเข้ามาด้วยตำแหน่งใดก็ตาม เนื่องด้วยปริมาณพนักงานที่ยังมีอยู่ไม่มากนั้นย่อมส่งผลให้คุณได้รับผิดชอบหน้าที่ที่หลากหลาย และจะเกิดเหตุการณ์ที่คุณจะต้องยื่นมือเข้าไปช่วยเพื่อนร่วมงานในการทำให้งานประสบความสำเร็จ งานที่คุณจะมีโอกาสได้ลงมือทำอาจมีตั้งแต่งานในระบบปฏิบัติการในทุก ๆ แผนก ไม่ว่าจะเป็น พนักงานขาย, การตลาด, งานบัญชี แม้กระทั่งงานวางแผน รวมทั้ง Business Development ทีจะช่วยให้บริษัทขยายตัวไปตามทิศทางที่ได้กำหนดไว้

2.โอกาสในการนำชีวิตเข้าสู่ระบบ Life Balance เป็นอีกหนึ่งความโชคดีในการร่วมงานกับบริษัท Start-Up นั่นก็คือ เวลาการทำงานที่ยืดหยุ่นได้

3.โอกาสให้เราเติบโต ในโลกใบนี้ทุกอย่างมีความเสี่ยง การร่วมงานกับบริษัท Startup ก็เช่นกัน เราจะตกอยู่ในสภาวะเสี่ยงที่จะตกงานสูงหากธุรกิจไม่สามารถดำเนินไปตามแผนได้ ถ้าหากธุรกิจดำเนินไปได้ด้วยดี ก็จะเป็นโอกาสให้เราเติบโตไปพร้อม ๆ กับบริษัทได้

จากหัวข้อที่ได้กล่าวมาในข้างต้นเป็นเพียงแนวคิดส่วนหนึ่งเท่านั้น เราอยากแนะนำให้คุณวิเคราะห์ความพร้อมของตัวเองให้ดีก่อนว่าคุณพร้อมที่จะลุยกับบริษัทแนวนี้หรือไม่ เพราะทุกย่างก้าวในชีวิตเรามักมีหลาย ๆ ปัจจัยที่ส่งผลต่อการตัดสินใจของเราเสมอ หากคุณเป็นคนพร้อมรับกับความเสี่ยง การเปลี่ยนแปลง และอยากจะพัฒนาความสามารถในการทำงานของตนเองโดยเริ่มจากองค์กรเล็ก ๆ เพื่อเรียนรู้เนื้อหาที่หลายหลาย การร่วมงานกับ Startup ก็อาจจะเป็นอีกทางเลือกที่น่าสนใจ แต่ถ้าคุณไม่พร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลง และความไม่มั่นคง  การร่วมงานกับบริษัทแรกเริ่ม ก็อาจจะต้องคิดให้ดีเช่นกัน เมื่อเราเริ่มงานกับองค์กรใดก็ตาม สิ่งสำคัญที่พิจารณามาเป็นอันดับแรกคือ ความมั่นคงและความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน ซึ่งการร่วมงานกับบริษัท Startup นั้น บางทีอาจจะต้องอาศัยเวลา ค่อยเป็นค่อยไป แต่ก็ขึ้นอยู่กับว่าคุณพร้อมที่จะเติบโตไปพร้อมกับบริษัทหรือไม่ เพียงแค่คุณทำความเข้าใจทั้งแนวทางบริษัท หรือความต้องการของตัวคุณเอง คำถามคาใจว่าคุณควรเข้าร่วมกับบริษัท Startup อาจจะชัดเจนยิ่งขึ้น

ความคิดเห็นของคุณ

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่