“5 วิธีขจัดความกลัว ขอขึ้นเงินเดือนกับเจ้านายที่รัก”
เวลาก็ผ่านมาจะสิ้นปีอีกล่ะเชื่อว่าหลาย ๆ คนก็คงจะทำงานมาจนใกล้จะหมดปีเข้ามาทุกทีแล้วนะคะ จำได้หรือไม่ค่ะว่าปีนี้ได้ทำอะไรสำเร็จเกี่ยวกับการงานและอาชีพของตัวเองได้มากน้อยแค่ไหน งานที่ทำอยู่ในแต่ละวันนั้น คุณเคยคิดหรือไม่ว่าคุ้มค่ากับเงินเดือนที่เราได้รับแล้วหรือยัง หรือคุ้มค่าไหมกับแรงกายและแรงใจที่ได้ทุ่มไปกับงานในแต่ละวัน ถ้าคำตอบคือ “ไม่” ก็คือจะถึงเวลาแล้วที่คุณควรจะขอขึ้นเงินเดือนจากหัวหน้าหรือเจ้านายที่น่ารักของเรานะคะ
แต่เชื่อหรือไม่ค่ะว่าหลาย ๆ คนจะไม่กล้าขอขึ้นเงินเดือนเพราะ “ความกลัว” ผลการสำรวจยังอ้างคำกล่าวของนักวิจัย Michelle Marks และ Crystal Harold ที่พบว่า “พนักงานที่กล้าเจรจาต่อรองขอขึ้นเงินเดือนกับเจ้านายนั้น สามารถทำเงินได้เพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยประมาณ 5,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อปีเลยทีเดียว” และส่วนใหญ่พนักงานผู้หญิงมักจะไม่ค่อยกล้าขอขึ้นเงินเดือนสักเท่าไร จะมีแค่ 7% เท่านั้นที่ผู้หญิงกล้าเจรจาต่อรองขอขึ้นเงินเดือนกับเจ้านาย ในทางกลับกันผู้ชายนั้น มักที่จะเจรจาขอขึ้นเงินเดือนมากกว่า 57% เลยทีเดียว
หากคุณเป็นคนหนึ่งที่กลัวการเข้าไปขอขึ้นเงินเดือนกับเจ้านายของคุณล่ะก็ ไม่ต้องกังวลอีกต่อไป วันนี้ JobCute ได้รวบรวม 5 วิธีขจัดความกลัว เพื่อไปขอขึ้นเงินเดือนให้สมกับที่คุณทุ่มเททำงาน ซึ่งจะช่วยเติมความมั่นใจและมีอำนาจการต่อรองที่สตรองพอที่จะไปพูดกับเจ้านายของคุณมากฝากกันนะคะ
1.ไม่กล้าขอ ก็ไม่ได้ ถ้าคุณคิดว่าความขยัน ความพยายามและทุ่มเทให้กับองค์กรของคุณจะถูกมองเห็นและได้รับการยอมรับจากเจ้านายด้วยการได้โบนัส ได้เลื่อนตำแหน่ง และได้ขึ้นเงินเดือน โดยที่คุณไม่จำเป็นต้องร้องขอแต่อย่างใดแล้วล่ะก็…….ตื่นค่ะ! เพราะความจริงมันโหดร้าย มันมักไม่เป็นอย่างที่คุณคิดอย่างแน่นอน! ถ้าคุณไม่กล้าขอ คุณก็จะไม่ได้ การเข้าไปเจรจาขอขึ้นเงินเดือนจากเจ้านายเป็นเรื่องที่น่าอึดอัดใจ และเสี่ยงมากกับการถูกเจ้านายตอบปฏิเสธให้เสียความมั่นใจได้ แต่การถูกปฏิเสธ ก็เป็นแค่อีกเรื่องหนึ่งที่ผ่านมาแล้วเดี๋ยวมันก็ผ่านไป การเริ่มต่อรองขอขึ้นเงินเดือน อาจกลายเป็นบันไดก้าวแรกที่จะทำให้คุณได้รับเงินเดือนที่คุ้มค่าในอนาคตก็เป็นได้ แค่คุณมีความกล้าที่จะเริ่มต้น ก็แสดงให้เห็นถึงความมั่นใจในตัวเองและความเป็นนักสู้ของคุณซึ่งอย่างน้อยจะทำให้เจ้านายได้สังเกตเห็นอะไรในตัวคุณขึ้นมาบ้าง และทำให้คุณโดดเด่นขึ้นมาได้ค่ะ
2.ไม่สำคัญว่าตอนนี้คุณได้เงินเดือนอยู่เท่าไหร่ ตัวเลขที่คุณขอเพิ่มขึ้นไม่ควรคิดมาจากฐานเงินเดือนที่คุณได้รับแต่เพียงอย่างเดียว แต่ควรคิดจากมูลค่าของตัวคุณในตลาดงาน รวมถึงภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันและฐานเฉลี่ยเงินเดือนของเพื่อนร่วมงานของคุณประกอบเข้าไปด้วย
3.รู้ว่าคุณทุ่มเททำอะไรให้บริษัทบ้าง ในการขอขึ้นเงินเดือนนั้นยังจำเป็นต้องรู้ว่าตัวคุณเองได้ทุ่มเททำผลงานอะไรให้กับบริษัทบ้าง รวมถึงทักษะและประสบการณ์ของคุณที่จะช่วยให้บริษัทบรรลุเป้าหมายทั้งระยะสั้นและระยะยาวได้ เมื่อคุณทำงานหนักแต่ไม่มีใครเห็นก็ไม่มีประโยชน์ คุณจึงควรฝึกฝน “ศิลปะในการโฆษณาความสำเร็จของตัวคุณ” เพื่อให้นายจ้างได้รู้ถึงความทุ่มเทและความตั้งใจให้กับการทำงานของคุณ นอกจากนี้คุณยังต้องรู้ว่าจะสร้างโอกาสให้ตัวเองและแสดงออกอย่างมั่นใจได้อย่างไรในการต่อรอง วิธีการที่จะทำให้การเจรจาประสบความสำเร็จยิ่งขึ้นคือ คุณต้องลองค้นคว้าหาข้อมูลว่าตอนนี้เทรนด์การขอเงินเดือนขึ้นเป็นอย่างไร หรือแม้กระทั่งสอบถามจาก เพื่อน ๆ ว่าโดยทั่วไปแล้วควรได้เงินเดือนเท่าไรตามเนื้องานและความรับผิดชอบที่ได้รับ คุณควรค้นคว้าจนมั่นใจและมีตัวเลขเงินเดือนที่คุณต้องการอยู่ในหัวก่อนที่จะเข้าไปขอขึ้นเงินเดือน มิฉะนั้นแล้วคุณอาจตกเป็นรองในการเจรจาและตัวเลขที่คุณได้รับเสนอมาอาจเบี่ยงเบนไปตามความต้องการของเจ้านายแทน
4.มีแผนสำรอง ถ้าขอขึ้นเงินเดือนไม่สำเร็จ เวลาจะทำอะไรก็ตาม อย่าไปทุ่มเทหมดหน้าตัก คุณควรมีแผนสำรองไว้ด้วย อย่างการขอขึ้นเงินเดือน คุณควรมีตัวเลขในใจมากกว่าหนึ่ง เผื่อเวลาที่เจ้านายปฏิเสธตัวเลขที่คุณเสนอไปในครั้งแรก คุณจะได้เสนอตัวเลขที่คิดว่าน่าจะต่อรองกันได้ดูด้วย คุณอาจลองยกข้อเสนอที่เป็นสิทธิพิเศษต่าง ๆ แทนตัวเงินก็ได้ เช่น เวลาการทำงานที่ยืดหยุ่นได้ วันลาพักร้อนที่เพิ่มขึ้น หรือการได้งบเพิ่มสำหรับการไปสัมมนาหรืออบรม เป็นต้น
5.พยายามวางเฉยและทำตัวเป็นกลางตลอดการเจรจาต่อรอง หนึ่งในกฎพื้นฐานของการเจรจาต่อรองคือคุณต้องมีหน้าวางเฉยที่ทำให้คนอื่นไม่รู้ว่าคุณกำลังคิดอะไรอยู่ เพื่อให้เขาเดาทางคุณไม่ถูก การวางเฉยและแสดงความรู้สึกเป็นกลางในการเจรจาจะช่วยให้คุณสงบและมีสมาธิตลอดกระบวนการ
เหนือสิ่งอื่นใด คุณควรเข้าไปคุยกับเจ้านายเรื่องการขอขึ้นเงินเดือนด้วยความมั่นใจ ว่าคุณสมควรที่จะได้รับมันจริง ๆ ความมั่นใจที่คุณแสดงออกมาจะมีผลต่อคู่สนทนาของคุณอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทั้งนี้ทั้งนั้น อย่าลืมว่าคุณมั่นใจได้แต่ต้องไม่ก้าวร้าว เพราะคุณต้องการสร้างความประทับใจให้กับเจ้านาย ไม่ใช่ต้องการข่มขู่เขาเพื่อให้ได้ในสิ่งที่คุณต้องการนะคะ