ปัญหาการโดนแกล้งสามารถเกิดขึ้้นได้กับทุกคน ไม่ว่าจะในระดับไหนก็ตาม อย่างข่าวช็อกที่เคยได้ยินมาผ่านหูว่า วงการเพลงเกาหลีต้องสูญเสียศิลปินสาวอดีตสมาชิกวง F(x) เนื่องจากโดนกลั่นแกล้งทางโลกออนไลน์ที่บั่นทอนจิตใจเธอเป็นอย่างมาก ซึ่งปัญหาการกลั่นแกล้งไม่เพียงแต่เกิดกับคนที่มีชื่อเสียงเพียงเท่านั้น แต่ยังสามารถเกิดได้กับทุกคนอีกด้วย ตลอดจนสามารถเกิดได้ในสถานที่ทำงาน หรือที่เรียกว่า Workplace Bullying ซึ่งคนที่โดนกลั่นแกล้งแรกๆอาจจะไม่รู้ตัว แต่นานเข้าคนโดนแกล้งเริ่มจะรู้ตัวขึ้นมา โดยการกลั่นแกล้งจะมีทั้งหมด 3 ระดับด้วยกัน ได้แก่ เจตนากลั่นแกล้ง, คนที่โดนแกล้งจะต้องรู้สึกเจ็บปวดทั้งทางร่างกายและจิตใจ, และเจตนาแกล้งซ้ำอย่างต่อเนื่องเป็นต้น
ทั้งนี้ การกลั่นแกล้งในสถานที่ทำงาน สามารถแสดงออกมาได้ในหลากหลายรูปแบบไม่ว่าจะเป็นต่อหน้าและลับหลัง เช่น ล้อเล่น นินทา ตีตัวออกห่าง หรือแม้แต่ประจานในโลกโซเซียลมิเดีย เป็นต้น ซึ่งล้วนแต่ต้องการเพิ่มความรุนแรงเรื่อยๆ อาจจะใช้คำหยาบที่ทำให้เรารู้สึกอับอาย หรือใช้อำนาจกดดัน สั่งงานเยอะและขอด่วนทุกงาน ทำให้การทำงานต้องขัดข้องและผิดพลาดในที่สุด จนนำไปสู่การเกิดภาวะหมดไฟในที่ทำงาน หรือที่ร้ายแรงที่สุดอาจจะส่งผลต่อร่างกายและเสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้า เมื่อปัญหาเหล่านี้ได้เกิดขึ้นแล้ว เราจะรับมือแก้ปัญหาได้อย่างไร ซึ่งทาง Jobcute เองก็มีวิธีการรับมือเมื่อเจอหรือตกอยู่ในสถานการณ์เหล่านี้ จะรับมือได้อย่างไรนั้น เราไปดูกันเลยค่ะ
1. มีสติ นิ่งเข้าไว้
เมื่อเจอคนประเภทที่ชอบนินทา หรือชอบเอาจุดด้อยมาล้อกันเป็นเรื่องขำขัน ก็อย่าใจร้อนตอบโต้ เราควรดึงสติกลับมาก่อน เพราะหากยิ่งโกรธมากเท่าไหร่ พวกเขาจะยิ่งได้ใจมากเท่านั้น ดังนั้น คุณควรเลือกนิ่งไว้ อย่าไปสนใจกับคำพูดเหล่านั้น คิดว่าทั้งหมดนั้นเป็นเรื่องไร้สาระ ไม่มีประโยชน์อะไรกับงานและชีวิตของเราเลย เพราะหากเรานิ่งเมื่อไหร่ สักพักเขาก็เบื่อไปเอง และไม่แกล้งอีกต่อไป ซึ่งวิธีนี้จะทำให้เพื่อนร่วมงานของคุณมองว่าคุณมีวุฒิภาวะที่สามารถควบคุมอารมณ์ได้ดี
2. เปิดอก เปิดใจคุยกัน
ถ้าวิธีแรกใช้แล้วไม่ได้ผล สถานการณ์ยังไม่ดีขึ้น ก็ถึงเวลาที่ต้องหันหน้ามาคุยกัน เปิดอกเปิดใจคุยกันตรงๆ ถามถึงสาเหตุว่าเป็นเพราะอะไร โดยสามารถคุยตรงๆให้ชัดเจนเลยว่าไม่ควรก้าวก่ายความเป็นส่วนตัวมากเกินไปนอกจากเรื่องงานเท่านั้น หรือหากไม่ชอบพฤติกรรมที่แสดงออกมา พยายามสื่อสารอย่างจริงจังโดยใช้คำพูดที่สุภาพและอ่อนโยนให้เป็นสัญญาณว่าคุณไม่พอใจกับเรื่องที่เกิดขึ้น และคุณก็มีสิทธิ์ปกป้องตัวเองเหมือนกัน ซึ่งอาจจะทำให้อีกฝ่ายหนึ่งคิดได้และพยายามปรับตัวหรือเห็นใจในที่สุด
3. รวบรวมหลักฐานทั้งหมดไว้
ลึกๆแล้ว คนที่ชอบแกล้งคนอื่นจะเป็นคนที่ขาดความมั่นใจในตัวเอง เห็นคนอื่นดีกว่าไม่ได้และจะกล้าเฉพาะอยู่ต่อหน้าเราเท่านั้น หากโดนกลั่นแกล้งในเรื่องงาน ก็อย่าปล่อยให้ตัวเองเป็นฝ่ายถูกกระทำอยู่ฝ่ายเดียว เราต้องทำงานให้รอบคอบที่สุดและหมั่นอัพเดตให้เพื่อนร่วมงานและหัวหน้ารู้ว่าเราต้องรับผิดชอบงานอะไรบ้าง เพื่อที่ว่าคุณจะได้มีหลักฐานเพื่อยืนยันได้ แต่หากว่าโดนตำหนิด้วยถ้อยคำที่หยาบคาย ข่มขู่ หรือโดนใส่ร้าย ให้อัดเสียงหรือบันทึกเหตุการณ์นั้นไว้เพื่อเป็นหลักฐานการป้องกันว่าคุณไม่ใช่ฝ่ายผิด
4. เล่า ระบายออกมา
คุณไม่ควรที่จะเก็บเรื่องนี้เพียงคนเดียว เพราะบางครั้งคุณไม่สามารถรับมือได้ สิ่งที่ต้องทำคือ ลองปรึกษาหัวหน้า เพื่อนร่วมงาน หรือ ฝ่ายทรัพยากรบุคคลเพื่อเล่าถึงปัญหาและขอคำแนะนำในการปฏิบัติตัว และคนผิดต้องได้รับการลงโทษ แต่หากไม่รุนแรงมากก็อาจเรียกมาคุยเพื่อไกล่เกลี่ยและปรับความเข้าใจกัน จะได้ไม่ต้องไปทำพฤติกรรมกับคนอื่นอีก แต่หากว่าคุณกลัวก็ควรปรึกษาจิตแพทย์เพื่อจัดการอารมณ์อ่อนไหวของตัวเองก่อน ซึ่งการระบายเรื่องราวให้กับคนอื่นฟังบ้างนั้น สามารถลดความเครียดได้ดีเลยทีเดียว
เราอย่าลืมว่านี่ไม่ใช่แค่เรื่องที่โดนกลั่นแกล้งและไม่สำคัญ แต่เป็นหน้าที่ของทุกคนในองค์กรที่ช่วยกันดูแลและสอดส่องพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมเพื่อสร้างสภาพแวดล้อมและวัฒนธรรมในองค์กรที่ดี แล้วลองกลับมาสำรวจตัวเองด้วยว่าเราเป็นส่วนหนึ่งที่สนับนสนุนการกลั่นแกล้งโดยไม่รู้ตัวหรือเปล่า