สิ่งที่ผู้สมัครงานมักทำพลาดโดยไม่รู้ตัว

ในการสัมภาษณ์งาน เราจะมีโอกาสได้แสดงตัวตน ทัศนคติ และประสบการณ์ที่เรามีให้กับบริษัทได้รู้จักในระยะเวลาสั้น ๆ ซึ่งแน่นอนว่าก่อนการสัมภาษณ์ ผู้สมัครงานมักมีการเตรียมความพร้อม โดยการศึกษาหาข้อมูลของบริษัท รวมถึงการเตรียมตัวตอบคำถามให้ถูกใจผู้สัมภาษณ์ เพื่อเพิ่มโอกาสที่จะได้งาน แต่ในบางครั้ง ก็มักจะมีการกระทำบางอย่างของผู้สมัครเองที่คิดว่าเป็นสิ่งที่ควรพูดควรตอบและเหมาะสม แต่หารู้ไม่ สิ่งเหล่านั้นกลับเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสมในการสัมภาษณ์งาน อาจจะทำให้เราพลาดโอกาสที่จะได้ร่วมงานกับบริษัทนั้น ๆ ได้ สำหรับบทความในวันนี้ทาง JobCute ได้รวบรวมหัวข้อหลัก ๆ ที่ผู้สมัครงานมักทำพลาดโดยบังเอิญ เพื่อจะได้เป็นแนวทางให้กับผู้สมัครงานทั้งหลายได้ปรับใช้ได้อย่างถูกต้องตามเวลาและสถานการณ์ จะมีอะไรบ้างลองไปติดตามกันเลยดีกว่าค่ะ

  1. อย่าอวดอ้างสรรพคุณของตัวเองมากไป

การบอกข้อดีของตัวเอง ว่าเป็นคนเก่ง มีความสามารถ เพื่อให้บริษัทมองเห็นศักยภาพที่มีอยู่ นับว่าเป็นสิ่งที่ดี แต่ในบางครั้งมันก็ควรมีความพอดี ไม่ดูอวดอ้างสรรพคุณของเราจนดูมั่นใจในตัวเองมากเกินไป ลองมาดูตัวอย่างเหล่านี้นะคะ ว่าเปรียบเทียบกันแล้วเป็นอย่างไรบ้าง

คำถาม : คุณคิดว่าตัวเองเหมาะสมกับตำแหน่ง Sales Manager หรือไม่?

นางสาว ก ตอบ :  ดิฉันมีความเหมาะสมกับตำแหน่งนี้อย่างมากค่ะ เพราะดิฉันเป็นคนเก่ง เรียนรู้ไว โน้มน้าวคนเก่ง ทำงานภายใต้แรงกดดันได้ดี บริหารจัดการเก่ง ประสานงานก็ได้นะคะ ทำได้หมดเลยค่ะ ไม่มีอะไรที่ดิฉันทำไม่ได้หรอกค่ะ ทำงานไม่นานก็ได้เลื่อนขั้นเลยค่ะ ใครทำงานร่วมกับดิฉันก็ชมกันทุกคนค่ะ ดิฉันไปสัมภาษณ์ที่ไหนก็ผ่านหมดเลยนะคะ แต่ดิฉันอยากทำงานที่นี่ค่ะ

การตอบคำถามแบบนี้ค่อนข้างมั่นใจในตัวเองมากเกินไป อาจทำให้ผู้สัมภาษณ์แอบหมั่นไส้เอาได้ และการบอกกล่าวอย่างเลื่อนลอย ไม่มีการยกตัวอย่างประกอบให้เห็นภาพชัดเจน ทำให้คำตอบดูไร้น้ำหนัก ไม่น่าเชื่อถือ หากปรับเปลี่ยนคำตอบสักนิด จะช่วยให้คำตอบดูดีขึ้นมาก เช่น

นางสาว ข ตอบ : ดิฉันเชื่อว่าจากประสบการณ์การทำงานด้านเซลมาตลอดระยะเวลาห้าปี ทำให้ดิฉันได้เรียนรู้เนื้องานที่หลากหลาย ได้มีโอกาสทำงานจนกระทั่งเข้าใจวิธีการทำงานทั้งหมด หลังจากที่ได้เรียนรู้มาสักพัก ดิฉันก็สามารถทำยอดได้ตามเป้าที่กำหนดไว้มาโดยตลอด สามารถโน้มน้าวลูกค้าได้ ในขณะเดียวกันดิฉันก็คอยให้คำแนะนำในการเลือกสินค้าได้อย่างดี เพราะดิฉันอยากให้ลูกค้าได้สิ่งที่ดีที่สุด เมื่อลูกค้าเกิดความประทับใจก็จะกลับมาใช้บริการอีก ซึ่งในตอนนี้ดิฉันมองหาความก้าวหน้า และสิ่งที่ท้าทายมากขึ้นกว่าเดิม และหากดิฉันได้รับโอกาสนี้ ดิฉันจะพยายามทำให้ดีที่สุด ไม่ให้บริษัทผิดหวังแน่นอนค่ะ

  1. โกหก หลอกลวง ตีเนียนไปก่อนไม่มีใครรู้หรอก

การโกหกในที่นี้ก็มีหลายแบบด้วยกัน หากเป็นการเพิ่มเติมข้อมูลบนพื้นฐานของความจริง ก็ยังพอหยวน ๆ กันได้ แต่หากเป็นการสร้างเรื่องขึ้นมา หรือโกหกในเรื่องสำคัญๆ อย่างเช่น เงินเดือน ประสบการณ์การทำงาน แล้วผู้สัมภาษณ์ หรือ ฝ่ายบุคคลมารู้ทีหลัง มีหวังโดนปรับตกแน่  รวมถึงการตอบมั่วโดยที่ไม่มีความรู้ในด้านนั้นอยู่เลย เช่น ข้อมูลบริษัทที่เราไม่ทราบ ก็สามารถบอกไปตามตรงว่ายังไม่ทราบในเรื่องนี้ แต่จะกลับไปค้นหาข้อมูลเพิ่มเติม ดีกว่าตอบไปแบบมั่ว ๆ ผิดเพียงเพราะไม่กล้าตอบว่าเราไม่รู้

  1. อนาคตของฉัน ฉันจะทำอะไรก็ได้

ในขณะที่ถูกสัมภาษณ์อยู่ ผู้สมัครงานมักจะเจอคำถามยอดฮิตที่ว่า “ไม่ทราบว่าอีกห้าปี คุณจะทำอะไร” หรือ “คิดว่าจะทำงานที่บริษัทกี่ปี” ผู้สมัครงานหลาย ๆ คนก็มักจะตอบตามความจริงว่า ทำงานหนึ่งปีก็พอแล้ว แล้วค่อยไปเรียนต่อต่างประเทศ หรือขยับขยายไปต่อยอดการทำงานที่อื่น บางกรณีก็ตอบว่าอีกห้าปีจะออกไปทำธุรกิจของตนเอง ซึ่งผู้สมัครหลายคนคิดว่าไม่น่ามีปัญหาอะไร แต่ในความจริงเป็นคำตอบที่ทำให้ผู้สัมภาษณ์ หรือทางฝ่ายบุคคลนั้น รู้สึกว่าเป็นการสูญเสียเวลาในการฝึกสอนงานให้กับคน ๆ นั้นและแน่นอนคุณจะไม่มีวันผ่านการสัมภาษณ์ในครั้งนี้ชัวร์ค่ะ เพราะทางบริษัทส่วนมากคาดหวังผู้สมัครงานที่มีความตั้งใจที่จะช่วยผลักดัน มุ่งมั่นตั้งใจทำงานให้กับบริษัทไปนาน ๆ

  1. วิจารณ์และพูดข้อเสียของบริษัทเก่า

ถ้าผู้สมัครงานได้ลาออกจากที่ทำงานเก่ามา ก็มักจะเจอคำถามที่ว่า “ทำไมถึงลาออกจากที่ทำงานเก่า” ซึ่งหลายๆ ท่านมักตอบคำถามโจมตีบริษัทเก่าของตนเอง พูดถึงที่ทำงานเก่าเสีย ๆ หาย ๆ ให้ผู้สัมภาษณ์ฟังอย่างลงรายละเอียด แต่การวิจารณ์ที่ทำงานเก่าอย่างเสียหาย ถือเป็นการแสดงให้เห็นถึงความคิดเชิงลบ เจ้าคิดเจ้าแค้นของตัวผู้สมัครงานเอง ผู้สัมภาษณ์งานจึงมักหลีกเลี่ยงที่จะรับผู้สมัครที่มีความคิดเชิงลบเข้ามาร่วมงานกับทางบริษัทเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นในภายภาคหน้า

  1. ทำความสนิทชิดเชื้อกับผู้สัมภาษณ์เสมือนเป็นคนสนิท มารยาทไม่จำเป็นต้องมี

สำหรับน้อง ๆ จบใหม่หลาย ๆ ท่านที่กำลังหางาน เมื่อไปสัมภาษณ์งานก็อาจจะพบเจอกับผู้สัมภาษณ์ที่อายุใกล้เคียงกัน หรืออาจเป็นผู้ใหญ่ที่อายุห่างกันค่อนข้างเยอะ แต่ให้ความเป็นกันเอง โดยพูดคุยแบบผ่อนคลาย สบาย ๆ  เพื่อให้การสัมภาษณ์นั้นไม่ดูไม่ตึงเครียดจนเกินไป แต่บรรยากาศที่ดูไม่ตึงเครียดนั้น ก็อาจจะทำให้ผู้สมัครงานเผลอลืมตัว เผลอทำกริยามารยาทที่ไม่เหมาะสมออกไป เช่น การตีซี้กับผู้สัมภาษณ์ หรือพูดคุยเล่นด้วยเหมือนคุยกับเพื่อน หรือเป็นตัวของตัวเองมากไปจนไม่เหมาะสมกับกาลเทศะ ไม่ว่าบรรยากาศการสัมภาษณ์งานจะเป็นอย่างไรก็ตาม เรื่องของมารยาท และกาลเทศะในการสัมภาษณ์งานก็ยังคงเป็นเรื่องสำคัญอยู่ดี เราควรที่จะต้องให้เกียรติแก่ผู้ที่กำลังสัมภาษณ์งานเราด้วยนะคะ

  1. สอบถามเรื่องเงินเดือนและสวัสดิการทำเหมือนกับเขาเลือกแล้ว

เมื่อทางผู้สัมภาษณ์เปิดโอกาสให้ผู้สมัครงานถามคำถาม หลาย ๆ ท่านมักถามเรื่องเงินเดือนและสวัสดิการทันที เพราะต้องการทราบว่าเป็นไปตามที่ตัวเองคาดหวังไว้หรือไม่ แน่นอนว่าเรื่องเงินนั้นสำคัญ อาจเป็นปัจจัยแรกที่ใช้ในการตัดสินใจเลือกงานสำหรับหลายๆ คนด้วยซ้ำ แต่อย่าลืมว่าเรื่องงานก็สำคัญ เราควรทำให้ทางบริษัทเห็นก่อนว่าเรามีศักยภาพ มีความเหมาะสมกับตำแหน่งงานก่อน หากบริษัทสนใจอยากจ้างงานแล้วล่ะก็ เรื่องเงินเดือนจะเป็นสิ่งที่ทางบริษัทเสนอขึ้นมาอย่างแน่นอน ลองมาดูตัวอย่างกันนะคะ

คำถาม :  มีอะไรอยากจะสอบถามเพิ่มเติมมั้ยค่ะ?

นางสาว ก ตอบ :  มีค่ะ ไม่แน่ใจว่าที่นี่ให้เงินเดือนตำแหน่ง Senior Accounting เท่าไหร่คะ แล้วให้โบนัสกี่เดือน มีสวัสดิการอะไรให้บ้างคะ มีค่าเดินทางให้มั้ยคะ แล้วมีค่าตำแหน่งให้ด้วยมั้ยคะ ปรับเงินเดือนตอนไหน

ลองคิดถึงใจผู้สัมภาษณ์งานดูแล้วกันนะคะ หากเจอคำถามรัวๆ ซึ่งเป็นคำถามเกี่ยวกับผลประโยชน์ของตัวเองอย่างออกนอกหน้า แทนที่จะถามหน้าที่ ความรับผิดชอบในการทำงาน สังคมการทำงาน หรือสิ่งที่ทำให้เห็นถึงความตั้งใจของการทำงาน จะรู้สึกอย่างไร และมีความคิดเห็นต่อผู้สมัครงานเช่นนี้อย่างไร ฝากไว้ให้คิดต่อแล้วกันค่ะ

  1. มาสัมภาษณ์งานไม่กล้ามาคนเดียว พาเพื่อน ญาติมาเป็นเพื่อน อุ่นใจกว่า

ผู้สมัครงานบางคนพาผู้ปกครองหรือคนรู้จักมารอที่หน้าห้องสัมภาษณ์ หรือ ให้ผู้ปกครองโทรมาถามเรื่องผลสัมภาษณ์แทนตัวเอง ผู้สมัครงานบางท่านนั้นอาจจะเพิ่งเรียนจบจึงยังไม่เข้าใจในความเหมาะสมของการสัมภาษณ์งาน ซึ่งเหตุผลที่ไม่ควรพาผู้ปกครอง หรือคนรู้จักมารอหน้าห้องสัมภาษณ์ด้วย เนื่องจากจะทำให้ผู้สมัครงานดูยังไม่เป็นผู้ใหญ่พอที่จะทำงาน ในบางกรณี ผู้ปกครองของผู้สมัครงานบางท่านก็โทรมาถามผลสัมภาษณ์แทนด้วย ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่ควรปฏิบัติเลย เพราะเมื่อเข้าสู่วัยที่เริ่มทำงานแล้ว ก็ควรเป็นคนที่จัดการเรื่องต่าง ๆ ได้ด้วยตัวเอง

  1. แต่งตัวหรูหรา ดูดีมีระดับ เพิ่มความมั่นใจ

การแต่งตัวนับเป็นเรื่องสำคัญในการสัมภาษณ์งาน ควรแต่งกายให้ดูดี มีความเป็นมืออาชีพ สุภาพเรียบร้อย แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ควรมีความพอดี ในกรณีที่แต่งตัวหรูหราจนเกินไป ก็จะกลายเป็นว่าไม่เหมาะสมกับกาลเทศะ เช่น ใส่นาฬิการาคาแพงหลายหมื่น เพชรส่องแวววายเปล่งประกายเตะตาผู้สัมภาษณ์ หรือถือกระเป๋าแบรนด์เนมหลักแสน ก็จะทำให้ดูเป็นการอวดฐานะตนเองมาก เพราะ ผู้สัมภาษณ์อาจจะเกิดความอิจฉาริษยา หรืออาจจะเกิดอาการหมั่นไส้เอาได้นะคะ นอกจากนี้หากเป็นตำแหน่งงานที่เงินเดือนไม่ได้สูง หรืองานหนัก ก็จะทำให้ผู้สัมภาษณ์รู้สึกว่าผู้สมัครไม่น่าจะทนงานหนัก ๆ ได้

เป็นไงบ้างค่ะ ไม่ทราบว่าผู้อ่านทุก ๆ ท่านเคยประสบพบเจอกับพฤติกรรมเหล่านี้หรือไม่ค่ะ สำหรับคนที่เคยมีประสบการณ์ในการเป็นทั้งผู้สัมภาษณ์ และผู้สมัครงาน หรือพออ่านมาถึงตรงนี้ ถึงกับร้อง “อ๋อ” รู้แล้วว่าทำไมเราถึงพลาดในการร่วมงานกับบริษัทนั้น บริษัทนี้ในตอนนั้น เพราะเป็นอย่างนี้นี่เอง อย่างไรก็ตาม เราทุกคนที่มีความผิดพลาด ไม่สามารถที่จะกลับไปแก้ไขจุดนั้นได้ แต่สำหรับใครหลาย ๆ คนที่กำลังเตรียมตัวในการไปสัมภาษณ์งานก็อย่าลืมอ่านทบทวน ว่าสิ่งไหนควรทำหรือไม่ควรทำนะคะ

 

ความคิดเห็นของคุณ

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่