เชื่อว่าทุกคนต้องทำงานไม่ว่าจะเป็นงานที่เป็นลูกจ้าง หรืองานที่เป็นนายตัวเอง เราก็ต้องทำงานด้วยกันทั้งนั้น ในยุคนี้เราสามารถแบ่งประเภทของงานได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ ดังนี้นะคะ

…ประเภทแรก คือ “งานประจำ” หรืองานที่มีรายได้สม่ำเสมอทุกเดือนจากบริษัทต่าง ๆ หรือเรามักจะเรียกกันอย่างติดปากสั้น ๆ ว่า “งานของมนุษย์เงินเดือน” เพราะมีการทำงานอย่างสม่ำเสมอทุกวัน มีวันหยุดตามที่บริษัทกำหนดไว้ พอสิ้นเดือนทางบริษัทก็จะทำการจ่ายค่าตอบแทนเป็นเงินเดือน

…ประเภทที่สอง คือ “งานไม่ประจำ” หรืองานฟรีแลนซ์ หรืองานพาร์ททาม อันนี้แล้วแต่ว่าใครจะเรียกแบบไหนนะคะ เป็นการรับจ้างเป็นครั้งคราว หรือบางครั้งบางคนก็อาจจะเรียกว่าธุรกิจส่วนตัวไปเลยก็มี จะมีการจ้างงานและจ่ายเงินเป็นครั้งคราวเป็นก้อนเดียว งานจบ งานก็มา ทำนองนี้ค่ะ

แอดมินเชื่อว่าคนส่วนใหญ่คงเข้าใจความหมายของสองคำนี้กันเป็นอย่างดีอยู่แล้ว และเช่นเดียวกัน เราก็เชื่อว่าทุกวันนี้หลาย ๆ คน คงจะเริ่มให้คะแนนกับสิ่งที่เรียกว่า งานประจำ ลดลง และอยากเทใจไปกับงานไม่ประจำกันมากขึ้น

งานประจำ หรืองานส่วนตัว
งานประจำ หรืองานส่วนตัว

…ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น?

คนทำงานประจำส่วนใหญ่จะมีค่านิยมที่ถ่ายทอดกันมาจากสื่อ จากคนรอบข้าง จากบรรยากาศและทัศนคติส่วนตัวที่ต้องพบเจอความซ้ำซากจำเจบางอย่าง บางคนก็อาจจะเกิดความเซ็งกับปัญหาในที่ทำงาน เบื่อหน่ายเจ้านาย เหนื่อยหน่ายกับเพื่อนร่วมงาน หรือเบื่อหน่ายบรรยากาศเดิม ๆ การทำงานเดิม ๆ เป็นต้น จนชอบตั้งคำถามกับตัวเองบ่อย ๆ ว่า ‘ฉันมาทำอะไรที่นี่’

คำตอบที่ผุดขึ้นมาในหัวเป็นระยะ ๆ จึงกลายเป็นว่า ‘ออกมาทำงานไม่ประจำ และไปเป็นนายตัวเองคงจะดีกว่ามั้ย’ สิ่งที่น่าสนใจอย่างหนึ่ง คือ คนส่วนใหญ่เข้าใจคำว่า ‘งานไม่ประจำ ทำให้เป็นนายตัวเอง’ อุปมาอุปไมย แล้วถ้าถามว่าเวลาทำงานประจำ แล้วเจ้านายสั่งให้เราไปตาย เราไปตามนั้นหรือเปล่า ถ้าไม่ ชีวิตของพวกเรายังไม่นับว่าเป็นนายตัวเองอีกอย่างนั้นหรือ?

อันที่จริงแล้ว การเป็นเจ้าของกิจการ ฟรีแลนซ์ หรือจะอะไรก็ตามที่ไม่ใช่งานประจำ เราก็ไม่ใช่ว่าจะเป็นนายของตัวเองอยู่ดี เพราะคุณก็ต้องไปง้อลูกค้า ทำงานตามออเดอร์ลูกค้า เราไม่สามารถทำอะไรตามใจ แล้วไปนำเสนอให้กับลูกค้าของเราทำตามเราได้กระมัง แล้วแบบนี้เรายังนับว่างานไม่ประจำ คือ นายตัวเองอยู่อีกหรือเปล่า?

สิ่งที่อยากจะบอกกับคนหาเช้ากินค่ำอย่างหนึ่ง คือ ชีวิตเราถูกกำหนดให้ใช้แบบพึ่งพาคนอื่นอยู่แล้ว แต่การที่คิดว่าการมีอิสรภาพ คือการหลุดออกจากกรงที่เรียกว่ามนุษย์เงินเดือน แล้วจะทำให้เจออิสรภาพหรือเป็นนายตัวเองอย่างที่ฝันไว้นั้น มันคงไม่ถูกต้องทั้งหมด

เพราะฉะนั้นความคิดที่ว่าม่ร่ำรวย ไม่มั่งคั่ง ลืมตาอ้าปากไม่ได้ และไม่มีวันเป็นนายตัวเอง อาจจะถูกแค่ส่วนหนึ่ง แต่ก็ไม่ทั้งหมด แต่เราเชื่อว่า คนที่จะแฮปปี้และประสบความสำเร็จในชีวิตด้วย ‘งาน’ ที่รู้จักความพอดีทั้ง ‘งานประจำ’ และ ‘ไม่ประจำ’ ได้ต่างหาก คือผู้ที่จะมีความสุขกับชีวิตจากการทำงานได้อย่างแท้จริง

งานประจำหรืองานไม่ประจำที่จะทำให้เราร่ำรวย
งานประจำหรืองานไม่ประจำที่จะทำให้เราร่ำรวย

แล้วเราจะสร้างความพอดี ระหว่างงานประจำกับไม่ประจำยังไงล่ะ…

  1. ลองใช้เวลาว่างอย่างมีคุณค่าเราจะพบว่าคนทำงานประจำหลายๆ คน ประสบความสำเร็จทางด้านการเงินและการใช้ชีวิตได้พร้อม ๆ กัน คือ การที่เขาสามารถใช้เวลาว่างได้อย่างมีประโยชน์ รู้จักนำเวลาว่างบางส่วนไปลงทุนกับความรู้และความเชี่ยวชาญบางอย่าง ซึ่งจะทำให้เขาเกิดการสร้างอาชีพและรายได้ใหม่ ควบคู่ไปกับงานประจำ
  2. เปลี่ยนงานประจำที่น่าเบื่อหน่ายให้เป็นความเชี่ยวชาญเฉพาะไม่ว่าคุณจะทำงานอะไร เป็น นักออกแบบมือฉมัง หรือเป็น นักบัญชีรุ่นเก๋า ถ้าคุณสามารถที่จะเปลี่ยนความเบื่อหน่ายในงานของคุณมาเป็นความเชี่ยวชาญ ที่จะทำให้คุณนั้นเก่งและประสบความสำเร็จมากยิ่งขึ้น
  3. การทำงานไม่ประจำ ต้องทำแบบค่อยเป็นค่อยไปการทำงานไม่ประจำที่ดี ควรเริ่มจากการทำในสิ่งที่รักหรือชอบ และพัฒนาประสิทธิภาพของงานนั้น ๆ อย่างเป็นขั้นเป็นตอน เรียนรู้และเพิ่มพลังให้กับงานนั้น ๆ ในยามที่มีเวลาพอ แต่อย่าทำไปเพียงแค่เบื่องานประจำ เพราะมันเป็นการฆ่าเวลาไปวันๆ และจะไม่ได้มีประโยชน์อะไรเลยในระยะยาว ทั้งนี้หากคุณทำมันได้ดีพอ วันหนึ่งงานนั้น ๆ อาจจะเปลี่ยนมาเป็นงานประจำในแบบฉบับที่คุณรักได้โดยไม่รู้ตัว
  4. งานไม่ประจำไม่ใช่งานอิสระอย่าพยายามนิยามว่างานที่ไม่ต้องอยู่ในระบบออฟฟิศ คืออิสระที่เราถวิลหา หรือนึกจะทำยังไงก็ได้ เพราะมันยิ่งกว่างานประจำ เนื่องจากงานไม่ประจำเต็มไปด้วยความรับผิดชอบที่ต้องให้ความสำคัญมากกว่า โดยเฉพาะกับคนที่จ่ายเราที่ผลงาน คุณต้องเค้นทั้งคุณภาพ ให้ความตรงเวลา และต้องสร้างเครดิตความน่าเชื่อถือในตัวคุณเองสุดๆ ต่อชิ้นงานนั้น ๆ มันช่างเหนื่อยแสนเหนื่อย (ยิ้มได้แค่ตอนเงินออก ที่อาจจะตกเบิกลากยาวไปหลายเดือน) ต่างกับงานประจำที่รับออเดอร์ตามสั่ง
  5. สายป่าน คือ ชีวิตหากเราคิดว่างานประจำต้องใช้เส้นสาย (เฉพาะตอนสมัครเข้าไป) ก็ต้องบอกว่างานไม่ประจำนั้นก็จำเป็นต้องใช้เส้นสายด้วยเหมือนกัน เพราะถ้าคุณไม่สามารถหางานจากคนรู้จัก หรือไม่รู้จักคนมาก ๆ ไว้กับตัวแล้ว โอกาสจะมีรายได้เข้ากระเป๋าอย่างสม่ำเสมอนั้นเป็นไปได้ยากเหมือนกันนะคะ

เอาจริง ๆ ก็คือ มุมคิดที่จะหาความมั่นคงให้กับชีวิต หรือสร้างความสบายใจให้กับตัวเอง ไม่ได้ขึ้นกับลักษณะงานทั้งหมด แต่มันขึ้นอยู่กับคุณภาพของงานที่คุณใส่ลงไป เพราะผลของงานจะเชื่อมต่อและบอกว่าคุณคือใคร ตามคำกล่าวที่ว่า ‘ค่าของคน อยู่ที่ผลของงาน’

ยิ่งไปกว่านั้น หากคุณทำงานใดไปนาน ๆ คุณจะยิ่งรู้จักตัวคุณเองมากขึ้นเรื่อย ๆ ว่าควรเดินต่อ หรือหยุดทันที อันนี้ก็จะเป็นสิ่งที่ตามมาที่คุณจะต้องใช้สมองเพื่อตัดสินใจนะคะ หรือหาคุณคิดจะเปลี่ยนงาน ขึ้นมาก็ลองค้นหาตัวเองให้เจอก่อนนะคะว่าอย่างไหนคือตัวคุณ แล้วจึงค่อยลุยสมัครงานต่อไปนะคะ

 

ความคิดเห็นของคุณ

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่