มาเริ่มจุดไฟและสร้างพลังบวกในที่ทำงานกันเถอะ!!

หลาย ๆ คนต่างก็ต้องทำงานในออฟฟิศหรือองค์กรต่าง ๆ มาสักระยะหนึ่งก็อาจจะเป็นไปได้ที่จะมีอาการเบื่อ…หมดไฟ ไม่มีแรงจูงใจในการทำงาน และเหตุการณ์เหล่านี้ก็สามารถที่จะเกิดขึ้นได้กับทุกองค์กร ทุกเพศและทุกวัย หากคุณทำบางสิ่งบางอย่างเป็นเวลาระยะหนึ่งแล้ว และเริ่มรู้สึกอิ่มตัวกับมัน แน่นอนว่า ความต้องการที่จะทำสิ่งนั้นต่อ ย่อมลดลงอาการเหล่านี้มักจะคืบคลานเข้ามา โดยที่คุณไม่ทันรู้สึกตัว หลายคนทำงานไปวัน ๆ โดยไม่มีจุดมุ่งหมาย เว้นเพียงแต่เงินเดือนจะเป็นสิ่งที่ทำให้คุณสามารถทำงานต่อไปได้ และหากคุณเจอคนที่มีอาการเบื่อ และรู้สึกว่ากำลังจะหมดไฟในการทำงาน ซึ่งคนๆ นั้น ไม่ใช่คนอื่นคนไกลเลย แต่กลับเป็น..ลูกน้องของคุณเอง! คุณจะทำการรับมือกับปัญหานี้อย่างไร??

มาเริ่มจุดไฟและสร้างพลังบวกในที่ทำงานกันเถอะ!!

ในปัจจุบัน ผู้บริหารองค์กร รวมถึงหัวหน้าส่วนใหญ่เริ่มหันมาใส่ใจในปัญหานี้มากขึ้น อาจเป็นเพราะ อัตราการย้ายงานในองค์กรเพิ่มมากขึ้น หรือในทางกลับกัน จำนวนบุคลกรเท่าเดิม แต่ผลประกอบการกลับไม่เพิ่มขึ้นตามที่คาดหวัง ซึ่งมีผลกระทบต่อความเติบโตขององค์กร หากพนักงานเริ่มบ่นว่าเบื่อ และดูเซื่องซึมในการทำงานแล้ว การดูแลเอาใจใส่บุคลากรในองค์กร ผู้ซึ่งเป็นแรงสำคัญในการผลักดันบริษัทให้ประสบความสำเร็จ คือสิ่งสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม วันนี้ JobCute ได้มีคำแนะนำวิธีจุดไฟให้กับพนักงานที่มอดแล้วหรือกำลังจะมอดดับไปให้กลับมาลุกโชน และสร้างแรงจูงใจในการทำงานให้กับลูกน้องอีกครั้ง ควรปฏิบัติตามนี้นะคะ

เชิญชวนให้พนักงานมีส่วนร่วมเพื่อเพิ่มแรงกระตุ้นในการทำงาน

หากเราอยู่ในระดับบริหารแล้ว สิ่งที่คุณตระหนักถึงเป็นอันดับแรก คือการจัดการภายในองค์กร ผู้ซึ่งเป็นผู้บริหารหรือหัวหน้าควรรู้ถึงวิธีที่จะช่วยกระตุ้นลูกน้องให้เกิดความกระตือรือร้นในการทำให้ผลงานออกมาดี และมีประสิทธิภาพที่สุด การให้พนักงานได้มีส่วนร่วมออกความคิดเห็น หัวหน้ารับฟังความคิดเห็นนั้น ถือว่าเป็นบรรยากาศที่ดีในการทำงาน แม้ว่าลูกน้องคนนั้นอาจจะออกความคิดเห็น ที่ไม่ค่อยตรงใจและตรงประเด็น สักเท่าไหร่ แต่อย่างน้อย ถ้าคุณรับฟังความเห็นและให้การสนับสนุนความคิดของลูกน้อง เมื่อเป็นเช่นนี้ พนักงานก็จะมีแรงผลักดัน ในการสร้างสรรค์ผลงานและมุ่งหวังที่จะบรรลุเป้าหมายมากยิ่งขึ้น

เชิญชวนให้พนักงานมีส่วนร่วมเพื่อเพิ่มแรงกระตุ้นในการทำงาน

สร้างความรู้สึกว่าเราเป็นเจ้าขององค์กรร่วมกัน

หากเราอยากให้งานประสบผลสำเร็จ เราต้องอาศัยการร่วมมือกันอย่างพร้อมเพรียงและเป็นระบบ ของทุก ๆ ฝ่ายในองค์กร หากขาดฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไป องค์กรก็ไม่สามารถก้าวไปข้างหน้าได้ การที่เราสร้างจิตสำนึกให้ทุกคนตระหนักว่า ทุกคนคือเจ้าขององค์กร และทุกคนมีสิทธิ ที่จะมีส่วมร่วมในการรับรู้ข้อมูลต่าง ๆ ในบริษัท เช่น กลยุทธ์การบริหารในองค์กร การเปิดเผยข้อมูลทางการเงิน รวมถึงการเปิดโอกาสให้พวกเขาได้แสดงความคิดเห็นที่สร้างสรรค์ได้อย่างเต็มที่ สิ่งนี้อาจช่วยปลูกฝังความคิดของการเป็นผู้ประกอบการ และให้พนักงานเล็งเห็นความสำคัญในบทบาท หน้าที่ของตัวเอง แสดงให้เห็นว่าพวกเขาได้สร้างกำไรและทำประโยชน์อะไรให้แก่องค์กรบ้าง สิ่งนี้สามารถกระตุ้นความรู้สึกว่าพนักงานแต่ละคน มีบทบาท หน้าที่ทีแตกต่างกันไป และทุกคนมีคุณค่าในองค์กรเสมอ ดังนั้นผู้บริหารควรชี้นำแนวทางในการทำงานให้บรรลุตามเป้าหมาย พร้อมกับเน้นย้ำให้ทุกคนตระหนักว่า หากขาดใครไปองค์กรก็จะไม่สมบูรณ์ เพราะทุกคนเป็นเจ้าขององค์กรร่วมกัน การร่วมมือกันพัฒนาตนเองและงานที่ทำให้ดีอย่างขึ้น จะส่งผลให้บุคลากรพร้อมที่จะเติบโตไปกับองคค์กร หากคนเราทำงานอย่างมีเป้าหมาย และเห็นคุณค่าในงานที่ทำอยู่นั้น รับรองว่าไม่มีทางที่ไฟในการทำงานจะมอดแน่นอน มีแต่จะยิ่งเพิ่มขึ้นทุกวันมากกว่า

สร้างบรรยากาศที่ดีในการทำงาน

สร้างบรรยากาศที่ดีในการทำงาน

แน่นอนว่าเราอาจไม่สามารถเปลี่ยนเนื้องานในการปฏิบัติงานได้ แต่เราสามารถช่วยสร้างบรรยากาศโดยการเปลี่ยนแปลงปรับปรุงสภาพแวดล้อมในการทำงาน เราควรเริ่มต้นจากสิ่งเล็กๆน้อยๆ เช่น อาจจะมีการจัดสรรที่นั่ง ใหม่ ๆ สร้างความสะอาดในพื้นที่การทำงาน เพิ่มเติมสีสันใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนอุปกรณ์สำนักงานต่างๆ ตกแต่งออฟฟิศด้วยสีสันที่ให้ความร้สึกอบอุ่นสดชื่นมากขึ้น หรือคุณสามารถจัดสรรงบประมาณเพื่อจัดเลี้ยงอาหารกลางวันฟรีอาทิตย์ละครั้งเพื่อให้ทุกคนได้ใช้เวลาร่วมกัน อาจจะคอยหากิจกรรมเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ทำร่วมกัน เช่น การไปท่องเที่ยวนอกสถานที่ หรือเรียกว่า Outing เพื่อเป็นการคอยกระตุ้นและเติมกำลังใจให้กันและกัน

เพิ่มพลังใจให้กับลูกน้องด้วยการรับฟังและให้เวลา

เมื่อทุกคนมีปัญหา ย่อมต้องการระบายและหาผู้รับฟังที่พร้อมจะเข้าใจ และให้คำแนะนำ หากคุณอยู่ในระดับหัวหน้าแล้วนั้น การดูแลใส่ใจพนักงาน ถามสารทุกข์สุขดิบ รวมไปถึงการให้คำปรึกษาที่ประโยชน์แก่ลูกน้องในการแก้ปัญหา จะเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่สามารถช่วยกระตุ้นความรู้ซึกดีดีของน้อง ๆ ในทีมได้ บางครั้งคนที่กำลังหมดไฟนั้นก็อาจต้องการคนที่จะคอยรับฟังเพราะเขามีคำตอบอยู่ในใจและแค่อยากระบายออกมา อย่าลืมว่าการเป็นหัวหน้าที่ดี ไม่ใช่แค่เพียงทำงานเก่งเท่านั้น คุณต้องเป็นหัวหน้าที่ดีและสามารถทำให้ลูกน้องรักและเคารพด้วย เพียงแค่เอาใจเขามาใส่ใจเรา แค่นี้คุณก็สามารถเปลี่ยนลูกน้องที่กำลังไฟมอดให้กลับมามีพลังใจในการทำงานขึ้นแล้ว

สร้างบรรยากาศที่ดีในการทำงาน

จริง ๆ แล้วการปลุกไฟให้คนที่หมดไฟนั้นยังมีอีกหลากหลายวิธี แต่ปัญหาเหล่านี้ควรมองย้อนไปที่ต้นเหตุที่แท้จริงก่อนที่จะเลือกวิธีแก้ไขหรือรับมือที่ถูกต้อง อยากให้นึกถึงคำว่าต้นทุนของการป้องกันนั้น คุ้มค่ากว่าต้นทุนของการรักษาอย่างแน่นอน หากคุณต้องเสียลูกน้องที่มีคุณภาพ ผู้ซึ่งเป็นแรงจักรสำคัญไป เพียงเพราะว่าพวกเขาเหล่านั้นหมดไฟ องค์กรที่เปรียบเสมือนเป็นบ้านของพนักงานก็ควรจะหาแนวทางปฏิบัติเพื่อแก้ไขปัญหาเช่นนี้ หากเปรียบผู้บริหารเป็นตะเกียง คุณต้องเป็นไฟที่ส่องสว่างตลอดเวลา เพื่อที่ลูกน้องจะได้ยึดเอาเป็นแบบอย่างในการทำงาน การที่เรายอมเสียเวลาและปัจจัยส่วนหนึ่ง เพื่อจัดทำกิจกรรม ที่สร้างสรรค์ และสร้างบรรยากศที่ผ่อนคลายให้กับพนักงาน ถือว่าเป็นการลงทุนที่คุ้มค่ามาก นอกจากที่คุณจะคืนความสดใสให้กับพนักงานที่หมดไฟ คุณยังช่วยกระตุ้นให้ทุกคนทำงานอย่างกระตือรือร้นมากขึ้น ถึงแม้ว่าการกระทำนี้อาจจะไม่ได้ช่วยจุดไฟให้กับพนักงานทุกคน แต่การแสดงให้เห็นว่าเราพยายามทำให้ทุกคนมีความสุขในการทำงาน และแสดงว่าเราใส่ใจ และให้ความสำคัญกับบุคลากรทุกคนอย่างจริงใจ ผลลัพธ์ที่ได้กลับมา ก็จะส่งผลเป็นแง่บวกอย่างแน่นอน

ความคิดเห็นของคุณ

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่