ศูนย์วิจัยเพื่อการพัฒนาสังคมและธุรกิจ (SAB) ได้เผยผลสำรวจวิถีชีวิตมนุษย์เงินเดือนและคุณภาพชีวิต ในปี 2561 ที่ผ่านมา พบว่า มนุษย์เงินเดือนในพื้นที่กรุงเทพฯจำนวน 55.2% มีการเปลี่ยนงานเฉลี่ย 2 แห่ง โดยทำงานเฉลี่ยแห่งละ 3 ปี 6 เดือน
โดยส่วนใหญ่แล้ว กลุ่มคน Gen Y (อายุช่วง 20-37 ปี) จะทำงานเฉลี่ยแห่งละ 2 ปี 5 เดือน ซึ่งระยะเวลาการทำงานจะสั้นกว่าชาวกลุ่ม Gen X โดยที่ Gen X จะทำงานเฉลี่ย 5 ปี 5 เดือน วันนี้ทางเว็บไซต์ Jobcute ไขข้อข้องใจว่าทำไมชาว Gen Y ถึงเปลี่ยนงานบ่อย โดยมีสาเหตุการเปลี่ยนงาน ดังต่อไปนี้
- มีความต้องการค่าตอบแทนและสวัสดิการเพิ่มมากขึ้น
- มีความต้องการอยากทำงานในองค์กรที่มีความมั่นคงมากขึ้น ซึ่งเหตุผลหลักๆของคนกลุ่มนี้คือ เบื่อและต้องการทำอะไรใหม่ๆ รวมถึงมีความอดทนต่ำด้วย
จากข้อมูลข้างต้น ถือเป็นเพียงข้อมูลโดยรวมที่ไม่ได้ลงรายละเอียดมากนัก แต่สามารถสะท้อนอะไรได้หลายอย่างเลยทีเดียว โดยเฉพาะระยะเวลาค่าเฉลี่ยในการเปลี่ยนงานของชาว Gen Y
ประเด็นแรก คือ ระยะเวลาเฉลี่ยในการทำงานของชาว Gen Y จะเปลี่ยนงานเฉลี่ย 2 ปี 5 เดือน โดยมีเหตุผลคือ เป็นระยะเวลาที่ดีสำหรับคนที่กำลังเริ่มเติบโต เพราะบางบริษัทที่ไม่ใหญ่จนเกินไป ก็สามารถเรียนรู้งานอย่างครบวงจรได้ภายในหนึ่งปี แต่ถ้าองค์กรขนาดกลางที่มีพนักงานประมาณ 150-300 คน และในองค์กรมีหลายสัดส่วนให้ได้เรียนรู้งานและระบบการบริหาร อาจจะใช้เวลาประมาณ 3 ปี ในการศึกษาเรียนรู้และสร้างประสบการณ์ความรู้เพื่อต่อยอดให้เกิดความชำนาญขึ้นมาได้ นอกจากนี้ยังประเด็นในเรื่องของสวัสดิการต่างๆ เช่น การเดินทางมาทำงาน สภาพแวดล้อม ค่าครองชีพ ความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงานในองค์กร และหัวหน้า เป็นต้น
ประเด็นที่สอง คือ ค่าตอบแทน ถือว่าเป็นเรื่องที่ปฏิเสธไม่ได้จริงๆเลยว่าการลาออกจากงานเดิมเพื่อไปเริ่มงานใหม่นั้น เงินเดือนจะต้องมากกว่างานเดิมพอสมควร เนื่องจากตามประสบการณ์และผลงานที่เคยทำมาก่อน ซึ่งทุกอย่างล้วนจำเป็นต้องสอดคล้องกับหน้าที่การงานใหม่ที่ทำด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงไปยังสถานที่ใหม่ก็ต้องแลกด้วยการปรับตัวต่อสภาพแวดล้อมใหม่ รวมถึงความกดดันจากหัวหน้าผู้บริหารและบริษัทที่ลงทุนกับการจ้างเรามาทำงาน ซึ่งงานวิจัยได้ระบุว่า คนที่ย้ายงานโดยเฉลี่ยจะมีรายได้มากกว่ากับคนที่อยู่ในองค์กรเดิมด้วยซ้ำ
ประเด็นที่สาม คือ เรื่องความมั่นคง แน่นอนแล้วว่า ชาว Gen Y ทุกคนไม่จำเป็นต้องกระโดดหรือหาหนทางเพื่อเปิดร้านธุรกิจกาแฟหรือเปิดสตาร์ทอัพใหญ่ๆเป็นของตัวเองเสมอไป เพราะชาว Gen Y แบบ Conservative ก็มีเหมือนกัน เพราะให้เหตุผลว่าต้องการความมั่นคงด้านการงานและมีความรู้สึกปลอดภัยที่ได้เงินเดือนอย่างสม่ำเสมอและไม่เสี่ยงต่อการโดนไล่ออกหากไม่มีผลงาน หรือปลดพนักงานตามพิษเศรษฐกิจแบบระบบเอกชน นอกจากนี้ Gen Y บางคนได้รับอิทธิพลจากครอบครัวที่เป็นราชการมาก่อน จึงส่งผลให้การตัดสินใจในการเลือกเส้นทางการทำงานในระบบราชการ หรือรัฐวิสาหกิจได้ไม่ยากมากนัก เนื่องจากมีสวัสดิการที่ดีเยี่ยมต่อตัวเองและครอบครัวอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม จากงานวิจัยที่ได้เผยว่า ส่วนใหญ่ชาว Gen Y มักจะไม่มีความอดทน มันก็ไม่เสมอไป ขึ้นอยู่ในแต่ละบุคคล บางคนมีความอดทนมากและบางคนมีความอดทนที่จำกัด เป็นต้น
ทั้งนี้ทั้งนั้น องค์กรสามารถรับมือกับชาว Gen Y ให้ทำงานในองค์กรได้นานๆและมีความสุขได้ด้วยวิธีง่ายๆ ดังต่อไปนี้
- องค์กรต้องมีความมั่นคงและวิสัยทัศน์
- ให้การเรียนรู้และพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ
- หัวหน้าต้องมีความเป็นผู้นำ เป็นทั้งพี่เลี้ยง เข้มแข็งและสามารถแนะนำงานได้
- ให้โอกาสในการแสดงความคิดเห็น
- ให้ความสำคัญกับสัมพันธภาพ เช่น มีความเป็นพี่น้องมากกว่าการเป็นเจ้านายลูกน้อง
- ยอมรับความคิดเห็นไม่ว่าจะเป็นตัวบุคคลและวิธีการทำงาน
- สร้างแรงจูงใจโดยให้ค่าตอบแทนที่เหมาะสมและยุติธรรม
- อย่าเข้มงวดจนเกินไป ควรให้อิสระทางความคิดและทำงานภายใต้กรอบที่เหมาะสม
- แสดงออกตรงไปตรงมา ไม่อ้อมค้อม
- อย่าปล่อยให้แก้ปัญหาโดยลำพัง ควรให้คำแนะนำอย่างใกล้ชิด
สุดท้ายนี้ ในปัจจุบันชาว Gen Y มีสัดส่วน 1 ใน 4 ของประชากรทั้งประเทศและกำลังเข้าสู่ตลาดงาน และจะกลายเป็นผู้บริหารในระดับกลางในอีก 3-5 ปีข้างหน้า หากองค์กรไหนสามารถดึงเอาศักยภาพสูงสุดและบริหารความสัมพันธ์ระหว่าง Generation ต่างๆอย่างลงตัว มั่นใจได้เลยว่าองค์กรจะสามารถดึงดูดและรักษาบุคลากรคุณภาพและจะนำพาองค์กรให้ประสบความสำเร็จได้ในที่สุด