Health Professional อาชีพไหนบ้างในโรงพยาบาลที่น่าทำ

คณะที่ถูกจับตามองเป็นอันดับต้น ๆ ก็คงไม่พ้นคณะด้านการแพทย์อย่างหมอหรือพยาบาล แต่รู้ไหมว่ายังมีคณะหรือสาขาอื่นที่เรียนจบมาแล้วทำงานในโรงพยาบาล และยังได้ช่วยเหลือผู้คนไม่ต่างกับหมอหรือพยาบาลด้วย เช่น นักกิจกรรมบำบัด นักกำหนดอาหาร นักทัศนมาตร นักพยาธิวิทยา ฯลฯ อาชีพเหล่านี้ล้วนน่าสนใจไม่แพ้หมอ แล้วอาชีพเหล่านี้จะมีหน้าที่บทบาทอย่างไร ต้องเรียนอะไรถึงจะทำอาชีพเหล่านี้ได้ วันนี้เวปไซต์ JobCute จะพาไปดูว่าจะมีอะไรกันบ้าง และทำความเข้าใจกันให้มากขึ้นค่ะ

นักกิจกรรมบำบัด (Occupational Therapy)
นักกิจกรรมบำบัดคืออะไร ฟังดูไม่คุ้นหูเท่าไร เหมือนนักกายภาพบำบัดหรือเปล่า คำตอบคือนักกิจกรรมบำบัดเป็นอาชีพที่ใช้กิจกรรมในการช่วยเหลือคนไข้ที่ได้รับความเจ็บป่วย ทั้งจากโรคภัยไข้เจ็บ อุบัติเหตุ ผู้มีอาการทางจิต เด็ก ผู้พิการและผู้สูงอายุ โดยทำหน้าที่ประเมิน ส่งเสริม บำบัด ป้องกันและฟื้นฟูสมรรถภาพ ให้คำแนะนำหลังการรักษาแก่คนไข้ที่เพิ่งหายจากการเจ็บป่วย แนะนำการฝึกใช้อุปกรณ์ การปรับสภาพแวดล้อมให้เหมาะสม ใช้ทั้งเทคนิค จิตวิทยา และอุปกรณ์เสริมเพื่อเพิ่มความสามารถในการทำกิจกรรมการดำเนินชีวิต รวมถึงฟื้นฟูทักษะการใช้ชีวิตประจำวันให้เหมือนคนปกติ

นักกิจกรรมบำบัด (Occupational Therapy)

นักกำหนดอาหาร (Dietitian)
สำหรับผู้ป่วยที่ต้องนอนโรงพยาบาล อาจจะมีอาการเบื่อหน่ายอาหารที่ทางโรงพยาบาลจัดให้บ้างแหละ แต่อาหารเหล่านั้นถูกทำมาเพื่อให้เหมาะกับอาการป่วยของแต่ละคน ซึ่งนอกจากนักโภชนาการก็ยังมีนักกำหนดอาหารที่มีความรู้เฉพาะทางด้านอาหาร เป็นผู้กำหนดปริมาณพลังงานและสารอาหารที่เหมาะสม โดยเฉพาะอาหารบำบัดโรคที่เรียกว่า โภชนบำบัด และยังมีหน้าที่ให้ความรู้และคำปรึกษาแก่ผู้ป่วย บุคคลทั่วไป ในการป้องกันและบำบัดโรคที่เกิดจากภาวะทุพโภชนาการ (ภาวะที่ร่างกายมีความไม่สมดุลด้านโภชนาการ) ในโรงพยาบาลต่าง ๆ จะมีนักกำหนดอาหารประจำอยู่เสมอ เพื่อช่วยให้การดูแลรักษาผู้ป่วยเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

นักกำหนดอาหาร (Dietitian)

นักทัศนมาตร (Optometry)
เมื่อดวงตามีปัญหาเรามักนึกถึงจักษุแพทย์ แต่ยังมีอีกวิชาชีพหนึ่งที่มีหน้าที่คล้ายกันแต่ก็ไม่ได้เหมือนซะทีเดียวอย่าง นักทัศนมาตร มีหน้าที่ในการตรวจ วินิจฉัย แก้ไข ป้องกันความผิดปกติทางด้านสายตา และดูแลสุขภาพสายตา โดยวิธีการทางทัศนมาตร เช่น เลนส์สายตา คอนแทคเลนส์ เครื่องมือในการฝึก การฟื้นฟูกล้ามเนื้อตา รวมถึงการปรับแต่งกล้ามเนื้อตา ยกเว้นการผ่าตัดตา โดยนักทัศนมาตรจะต้องทำงานร่วมกับจักษุแพทย์ เพื่อติดตาม ป้องกันหรือร่วมมือกันแก้ไขปัญหาการมองเห็นของผู้ป่วย

นักพยาธิวิทยาด้านการพูดและภาษา (Speech-Language Pathologist)                                   นักพยาธิวิทยาด้านการพูดและภาษา (Speech-Language Pathologist) อีกหนึ่งวิชาชีพเฉพาะทางที่น้อยคนจะรู้จักนั่นคือ นักพยาธิวิทยาด้านการพูดและภาษาหรือนักแก้ไขการพูด มีหน้าที่วินิจฉัยความผิดปกติของการสื่อความหมายทางภาษาและการพูด ตรวจคัดกรองหาข้อบ่งชี้ ประเมินสภาพความผิดปกติ ทดสอบความสามารถทางด้านภาษาและการพูดรวมถึงการกลืน แยกประเภทความผิดปกติต่าง ๆ บำบัดรักษา แก้ไขและฟื้นฟูสมรรถภาพได้ครอบคลุมทุกประเภทของความผิดปกติ เช่น การพูดไม่ได้ พูดไม่ชัด เสียงผิดปกติ ปากแหว่งเพดานโหว่ ประสาทหูพิการ ออทิสติก สติปัญญาอ่อน กลืนลำบาก กลืนผิดวิธี ผู้ป่วยที่ตัดกล่องเสียง ผู้ป่วยสมองพิการ เป็นต้น รวมถึงการปรับพฤติกรรม การเรียนรู้ อารมณ์ และการอยู่ร่วมกันในสังคม ให้คำแนะนำแก่ผู้ปกครอง ญาติ ผู้ดูแล หรือผู้เกี่ยวข้องให้มีความเข้าใจเกี่ยวกับความผิดปกติของผู้ป่วยและเรียนรู้วิธีการรักษาที่ถูกต้อง

นักพยาธิวิทยาด้านการพูดและภาษา (Speech-Language Pathologist)

วิสัญญีแพทย์ (Anesthesiologist)
ก่อนผ่าตัดบางเคสก็ต้องดมยาสลบ บางเคสก็ไม่ต้อง ใครกันที่ทำหน้าที่ดูว่าต้องใช้ยาสลบหรือไม่ ปริมาณเท่าไร คนที่ทำหน้าที่นี้ก็คือวิสัญญีแพทย์หรือหมอดมยานั่นเอง มีหน้าที่ให้การระงับความเจ็บปวด และดูแลผู้ป่วยในระหว่างการผ่าตัดให้ได้รับความปลอดภัย ต้องประยุกต์ใช้ความรู้ ทั้งทางกายวิภาค เภสัชวิทยา สรีรวิทยา ฟิสิกส์ และพยาธิวิทยาของอวัยวะต่าง ๆ ทั้งยังต้องทราบจุดประสงค์และการรักษาของศัลยแพทย์ทุกสาขาที่ผ่าตัดผู้ป่วยด้วย

วิสัญญีแพทย์จะต้องเข้าใจว่า แต่ละโรคทำให้เกิดความผิดปกติอะไรบ้าง จะผ่าตัดตรงไหน ใช้เวลานานเท่าไร จะมีการเปลี่ยนแปลงอะไรเกิดขึ้นกับผู้ป่วยบ้างตั้งแต่ก่อนการผ่าตัด ระหว่างการผ่าตัด และหลังการผ่าตัด วิสัญญีแพทย์จึงถือเป็นอาชีพที่สำคัญไม่แพ้หมอเลยทีเดียว

แพทย์เวชศาสตร์ฉุกเฉิน (Emergency Medicine)
อีกหนึ่งวิชาชีพที่ต้องต่อสู้กับเวลาและความกดดันเพราะมีเวลาจำกัด เวชศาสตร์ฉุกเฉินหรือแพทย์ฉุกเฉิน มีหน้าที่ช่วยเหลือดูแลรักษาผู้เจ็บป่วยฉุกเฉินที่ต้องการการรักษาทันที ณ จุดเกิดเหตุและระหว่างการนำส่งสถานพยาบาลได้อย่างถูกต้อง รวดเร็ว ต้องทำงานภายใต้ความกดดัน และทำงานในหลายพื้นที่ ตั้งแต่รถฉุกเฉิน เฮลิคอปเตอร์ เป็นต้น โดยโรงพยาบาลจะมีแผนกฉุกเฉินดูแลผู้ป่วยในภาวะฉุกเฉิน เน้นการรักษาเริ่มต้นที่ถูกต้อง ทันท่วงที เพื่อประสานกับแพทย์เฉพาะทางสาขาอื่นในการรักษาเฉพาะเจาะจงต่อไป

เลขานุการทางการแพทย์ (Medical Secretary)

เลขานุการทางการแพทย์ (Medical Secretary)
ถึงเป็นหมอก็ต้องมีเลขาฯ เหมือนผู้บริหารทั่วไป แล้วทางการแพทย์เลขาฯ ต้องทำอะไรบ้าง เลขานุการทางการแพทย์ มีหน้าที่คล้ายกับงานเลขานุการทั่วไป โดยเป็นผู้ประสานงานด้านการแพทย์ แต่จะต้องมีความเข้าใจในรายละเอียดของวิธีการทางการแพทย์เช่นเดียวกับผู้บริหารระดับสูง เพราะจะต้องเข้าใจศัพท์วิชาการ ศัพท์เฉพาะทางด้านการแพทย์ และทำหน้าที่เก็บเอกสารประวัติการรักษาคนไข้ รวมถึงทำหน้าที่นัดหมาย เมื่อมีการตรวจรักษาสำหรับโรคที่จะต้องรักษาอย่างต่อเนื่อง โดยแพทย์จะระบุกำหนดเป็นวัน สัปดาห์ หรือเดือน รายละเอียดตรงนี้พยาบาลก็จะต้องตรวจเช็คให้ละเอียดเพื่อจะได้กำหนดวันเวลาได้ถูกต้อง

ความคิดเห็นของคุณ

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่