การพัฒนาองค์กรด้วยแนวคิด Agile เป็นการพัฒนาการทำงานในองค์กรให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นและทำงานได้เร็วกว่าปกติ อย่างไรก็ตาม แนวคิด Agile ใช่ว่าจะเหมาะกับทุกองค์กร เพราะแต่ละองค์กรมีวัฒนธรรมที่แตกต่างกันออกไป
แนวคิด Agile ถือว่าเป็นทางเลือกใหม่ในโลกของการทำงานท่ามกลางความเปลี่ยนแปลง ซึ่งในโลกการทำงานในปัจจุบัน องค์กรต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงหลายอย่างอย่างรวดเร็วไม่ว่าจะเป็นด้านเทคโนโลยี เศรษฐกิจ ตลอดจนความต้องการของผู้บริโภคที่เกิดความเปลี่ยนแปลงอีกด้วย จึงเป็นสาเหตุให้องค์กรบางแห่งปรับตัวไม่ทันและกลายเป็นผู้ที่ตามหลังในที่สุด ดังนั้น องค์กรที่จะอยู่รอดได้นั้น ไม่เพียงแค่ต้องมีความสามารถอย่างเดียว แต่ต้องเร็วและอยู่ได้ในท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของโลกดิจิทัลใบนี้ หรือสามารถเรียกยุคนี้ได้ว่า “ยุคปลาเร็วกินปลาช้า”
ปัจจุบันมีหลายองค์กรที่พยายามปรับเปลี่ยนให้ก้าวทันตามโลกดิจิทัลใบนี้โดยการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการทำงาน แก้ไขปัญหาให้เร็วและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เราสามารถเห็นว่าองค์กรหลายแห่งเริ่มนำแนวคิด Agile เข้ามาปรับใช้ในองค์กร เนื่องจากเป็นกระบวนการที่จะช่วยให้ทำงานได้เร็วยิ่งขึ้น ซึ่งแนวคิดการทำงานแบบ Agile นี้ จะลดการทำงานที่เป็นขั้นตอนและงานด้านเอกสารลง และมุ่งเน้นในเรื่องของการสื่อสารกันในทีมให้มากขึ้น เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้เร็วขึ้น พร้อมนำมาทดสอบและเก็บผลตอบรับต่างๆเพื่อนำไปปรับปรุงแก้ไข ซึ่งวิธีนี้สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ได้อย่างรวดเร็วและตอบโจทย์ผู้บริโภคมากขึ้นนั่นเอง
- แนวคิด Agile ไม่ตอบโจทย์ทุกองค์กร
แนวคิด Agile เป็นแนวคิดที่กระตุ้นการทำงานในองค์กรให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยเน้นไปที่การสื่อสารและลงมือทำสิ่งใหม่ๆ พร้อมเสี่ยงที่จะลองและเรียนรู้ และปรับปรุง ตลอดจนพัฒนาตัวเองอย่างไม่มีที่สิ้นสุด
แนวคิดนี้ เป็นแนวคิดที่ดีมาก เพราะองค์กรสามารถสร้างนวัตกรรมใหม่ๆได้ แต่หากฝ่ายบุคคลลองนำไปประยุกต์ เป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาปัจจัยอื่นๆอีกด้วย เพราะ Agile ไม่ได้เหมาะกับทุกองค์กรเสมอไป
- ค่อยๆทดลองปรับใช้แนวคิด Agile ทีละนิด
แนวคิดนี้ ถือว่าเป็นแนวคิดที่ไม่มีสูตรตายตัว หาก HR จะลองนำมาปรับใช้กับองค์กรละก็ ควรทดลองกับทีมหรือโปรเจคเล็กๆก่อน และช่วยกันขยายหรือปรับความคิดของทีมให้สอดคล้องกับแนวคิด Agile ซึ่งแน่นอนอยู่แล้วว่าการทำงานครั้งแรกย่อมมีปัญหาเกิดขึ้นเป็นเรื่องธรรมดา เนื่องจากทีมงานยังไม่คุ้นเคยกับแนวคิดนี้ ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีการพูดคุยบ่อยๆ เพื่อหาปัญหาให้เจอและแก้ไขปรับปรุงไปเรื่อยๆ หากมีแนวโน้มที่ดีขึ้น ก็ค่อยขยายผลทดลองกับทีมหรือโปรเจคที่ใหญ่ต่อไป
สร้างวัฒนธรรมที่เอื้อต่อการทำงานแบบ Agile ได้อย่างไร
- ให้เกียรติและเคารพซึ่งกันละกัน ไม่ว่าแต่ละคนนั้นมีความแตกต่างกัน เช่น เพศ อายุ วัยวุฒิ ตลอดจนถึงทักษะความสามารถต่างๆ เป็นต้น
- หมั่นพัฒนาตนเองอยู่เสมอ เพื่อให้งานของตนเองมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นและบริหารจัดการงานต่างๆได้ด้วยตนเองเพื่อให้มีแรงจูงใจที่อยากจะพัฒนาตัวเองให้เก่งอยู่เสมอ
- สื่อสารกันในทีมให้มากขึ้น เพื่อให้ทีมเห็นถึงเป้าหมายตรงกันว่าจะไปในทิศทางไหน ให้ทุกคนในทีมเข้าใจกระบวนการทำงานซึ่งกันและกัน
- หากทีมงานสามารถสร้างผลงานให้กับองค์กร สิ่งที่ควรทำคือ ชื่นชมและให้กำลังใจแก่ทีมงานเพื่อช่วยให้ทีมมีแรงสู้ในการทำงานต่อไป นอกจากนี้ยังรู้สึกว่าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
หมั่นกระตุ้นให้ทีมงานปรับปรุงและพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ เมื่อได้รับความคิดเห็นไม่ว่าจะใครก็ตามหรือพนักงานที่เกี่ยวข้อง ควรรีบปรับปรุง แก้ไขทันที พร้อมเรียนรู้ข้อผิดพลาดของตนและทีมอยู่เสมอ นอกจากนี้ไม่ต้องรอแค่ความคิดเห็นของคนภายนอกเท่านั้น แต่ต้องมีความมุ่งมั่น เปิดใจในการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆอยู่เสมอด้วย