แน่นอนอยู่แล้วว่าไม่มีบริษัทไหนที่จะมีพนักงานเก่าชุดเดิมทำงานอยู่ตั้งแต่ก่อตั้งบริษัทจนถึงปัจจุบัน ซึ่งตามวงจรของชีวิตการทำงานแล้ว ก็จะมีทั้งพนักงานใหม่และพนักงานเก่าที่ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกัน ขึ้นอยู่กับว่าบริษัทนั้นๆตอบโจทย์ของพนักงานมากน้อยแค่ไหน เพราะพนักงานแต่ละคนนั้นย่อมมีเงื่อนไขในการใช้ชีวิตที่ไม่เหมือนกัน
โดยทั่วไปแล้ว เมื่อมีพนักงานเก่า ก็ย่อมมีพนักงานใหม่เป็นเรื่องธรรมดา ซึ่งบริษัทบางแห่งอาจจะไม่มีปัญหา แต่หลายๆบริษัทกลับมีปัญหาระหว่างพนักงานเก่าและพนักงานใหม่อย่างไม่น่าเชื่อ ดังนั้น Jobcute ก็เลยมีบทความดีๆมานำเสนอให้ได้อ่านกันว่าใครจะดีกว่ากันและบริษัทจะเลือกพนักงานเก่าหรือพนักงานใหม่ ไปดูกันเลยค่ะ
ข้อดีของของพนักงานใหม่
- ช่วยแบ่งเบาภาระงาน เหตุผลหลักๆที่หลายๆบริษัทเปิดรับพนักงานใหม่ ก็เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระงานในการทำงานภายในออฟฟิศนั่นเอง
- สอนงานง่าย เนื่องจากเป็นพนักงานใหม่ อาจจะยังไม่ค่อยรู้จักใครมาก ย่อมไม่มีปากเสียงหรือเป็นตัวตั้งตัวตีในการก่อปัญหากับคนอื่นๆแน่นอน
- มีความคิดสร้างสรรค์ เนื่องด้วยเป็นพนักงานใหม่หรือเพิ่งจบการศึกษามา ย่อมมีความคิดใหม่ๆติดตัวมาเสมอ ส่วนหนึ่งอาจจะมาจากอีกองค์กรหนึ่ง มาจากอีกมุมมองหนึ่งเลยเสมือนเป็นตัวกระตุ้นความสร้างสรรค์ให้กับทีมได้
- ความกระตือรือร้น เนื่องด้วยเป็นน้องใหม่ในที่ทำงาน ย่อมมีไฟในการทำงานมากเป็นธรรมดา ดังนั้น จึงไม่แปลกใจเลยว่าหากพนักงานใหม่ในทีมสามารถทำงานได้ทุกอย่างหรือสั่งอะไรก็สามารถทำได้ทันที
- สามารถเรียนรู้สิ่งใหม่ๆได้ง่าย เพราะความใหม่นั่นเองที่จะทำให้พนักงานสามารถเรียนรู้สิ่งใหม่ๆได้ เนื่องจากพนักงานใหม่สามารถเปรียบได้เสมือนน้ำที่ยังไม่เต็มแก้ว ที่พร้อมจะรับรู้สิ่งใหม่ๆเสมอ และที่สำคัญสามารถเรียนรู้ได้อย่างเร็วอีกด้วย
ข้อเสียของพนักงานใหม่
- ประสบการณ์น้อย พนักงานใหม่อาจจะมีประสบการณ์น้อยหรือไม่มีประสบการณ์เลย
- เสียเวลาในการเทรนงาน สำหรับนักศึกษาที่เพิ่งเรียนจบใหม่ๆ ก็ต้องอาศัยเวลาในการสอนงาน แล้วยังต้องอาศัยเวลาในการปรับตัว หรือแม้แต่คนที่มีประสบการณ์มาแล้วก็ตาม ก็ต้องเสียเวลาในการปรับตัวกับองค์กรใหม่ เรียนรู้งานใหม่ เพราะบริษัทแต่ละแห่งแม้จะเป็นงานในขอบเขตที่เหมือนกัน แต่วิธีการทำงานอาจจะแตกต่างกันออกไป
- ค่าใช้จ่ายสูง แม้ว่าบริษัทจะมีการกำหนดมาตราฐานเงินเดือนขั้นต่ำแล้วก็ตาม แต่ก็ยังมีค่าใช้จ่ายอื่นๆตามมา เช่น ค่าเทรนงาน เป็นต้น ซึ่งถือว่าต้องใช้งบประมาณส่วนหนึ่งเหมือนกัน
- ไม่แน่นอน บางครั้งฝ่ายบุคคลประสบปัญหากับพนักงานที่ไม่มาทำงานโดยไม่แจ้งล่วงหน้า หรือบางคนมาทำงานได้ไม่ถึงเดือนก็ลาออก จึงเป็นเหตุให้ฝ่ายบุคคลต้องหาพนักงานใหม่อยู่ตลอดเวลา
ข้อดีของพนักงานเก่า
- ทำงานราบรื่น ด้วยความที่ทำงานมานานและมีประสบการณ์ ดังนั้น จึงไม่ทำให้บริษัทต้องสะดุดหรือชะงักอย่างแน่นอน
- รู้งาน รู้หน้าที่ พนักงานเก่าสามารถแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้ เนื่องจากมีประสบการณ์ในการทำงานเป็นเวลานาน ย่อมมีทักษะในการแก้ปัญหา
- รู้จักบริษัท พนักงานเก่ารู้ประวัติความเป็นมาของบริษัทและวัฒนธรรมขององค์กรได้เป็นอย่างดี ตลอดจนสามารถปรับตัวให้อยู่ในบริษัทได้อย่างไม่อึดอัด
- มั่นคง พนักงานเก่าที่ทำงานมาน ส่วนใหญ่จะไม่ค่อยเปลี่ยนงานบ่อยๆ ทำให้ไม่ต้องเสียเวลาในการเทรนงาน และสามารถสั่งงานได้เลย
ข้อเสียของพนักงานเก่า
- เรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ๆได้ช้า ทำให้บริษัทไม่สามารถปรับเปลี่ยนตามกระแสโลกภายนอกได้ทัน อาจจะทำให้องค์กรล้าสมัยได้
- มีความคิดเป็นของตัวเอง ด้วยความที่พนักงานเก่าทำงานมานาน มีประสบการณ์การทำงานเยอะกว่าทำให้พนักงานเก่ายึดความคิดของตัวเองเป็นหลัก จนทำให้ปิดกั้นแนวการทำงานใหม่ๆ
- ไม่ค่อยมีความคิดสร้างสรรค์ ด้วยความที่ต้องทำงานเดิมๆซ้ำๆ ทำให้ไม่ค่อยได้พัฒนาความคิด หรือ ความสร้างสรรค์ใหม่ๆ งานที่ออกมาจึงเป็นงานเดิมๆ
- หมดไฟ (Burnt Out) พนักงานเก่าหลายคนเริ่มมีครอบครัวและมีหน้าที่ต้องรับผิดชอบกันมากขึ้น จึงมีเวลาทุ่มเทให้กับงานน้อยลง บางคนทำงานหนักที่ออฟฟิศ กลับบ้านต้องทำงานบ้านอีก ดูแลบ้าน ดูแลครอบครัว ตกกลางคืนก็หลับ ตื่นเช้ามาก็รีบออกไปทำงาน จนทำให้บางครั้งเกิดสภาวะหมดไฟกับการทำงานในที่สุด
พนักงานใหม่หรือพนักงานเก่าดี?
มาถึงจุดนี้คงจะพอเห็นแล้วว่าไม่ว่าจะเป็นพนักงานใหม่ หรือพนักงานเก่าก็ตาม ต่างก็มีทั้งข้อดีและข้อเสียที่แตกต่างกันไปออกไป เพราะพนักงานใหม่เองก็มีข้อดีที่พนักงานเก่าไม่มี ในขณะเดียวกันข้อดีของพนักงานเก่าก็หาไม่ได้ในตัวพนักงานใหม่ ดังนั้น การผสมผสานข้อดีของพนักงานเก่าและพนักงานใหม่ถือว่ามีความลงตัวมากที่สุด ซึ่งเป็นหน้าที่ของหัวหน้างานที่ต้องหาวิธีละลายพฤติกรรมที่ไม่ดีของทั้งสองฝ่าย และหาชุดเชื่อมข้อดีของกันและกันให้ได้ รับรองเลยว่าจะไม่มีปัญหาพนักงานเก่าหรือพนักงานใหม่ใครดีใครเด่นกว่ากันแน่นอนค่ะ