เมื่อเปลี่ยนงานใหม่ เราควรเลือกเงินเดือนเท่าไหร่ดีที่ให้ตัวเราเองและเจ้านายมีความสุข แฮปปี้ดีต่อใจทั้งสองฝ่าย และไม่มีใครเสียประโยชน์จากการต่อรองขึ้นเงินเดือน พนักงานต้องไม่เสียเปรียบ ในขณะเดียวกันองค์กรเองไม่เสียผลประโยชน์เช่นกัน คุ้มค่ากับการลงทุนด้านทัพยากรบุคคลที่จะเป็นกลุ่มขับเคลื่อนให้องค์กรก้าวไปข้างหน้า เราจะทำอย่างไรให้นายจ้างมั่นใจในตัวเรา และพร้อมรับฟังตัวเลขเงินเดือนที่เราเสนอ และตอบตกลงเงินเดือนใหม่ให้เรา วันนี้ทาง Jobcute มีหลักการที่เราควรคำนึงในการอัพเงินเดือนกับนายจ้างมาฝากสำหรับคนทำงานที่อยากจะขยับเลื่อนขั้นตำแหน่งงานไปเรื่อยๆ
- โครงสร้างเงินเดือนในตลาดงาน
การเรียกหรือกรอกตัวเลขเงินเดือนเมื่อสมัครงานที่มากไปหรือน้อยเกินไป ทำให้ผู้สัมภาษณ์งานข้องใจในเรื่องความสามารถ ศักยภาพในการทำงาน ว่ามีความเหมาะสมกับตัวเลขเงินเดือนที่เรียกไป การเรียกเงินเดือนที่ไม่พอดีจะทำให้องค์กรเกิดการตั้งคำถามกลับ และส่งผลเสียกับการต่อรองเงินเดือนเป็นอย่างยิ่ง ดังนั้น เราควรเรียกเงินเดือนในระดับที่พอดีในอัตราที่เหมาะสม สอดคล้องกับโครงสร้างเงินเดือนตามตลาดแรงงาน โดยเราสามารถศึกษาได้จากเว็บไซต์หางานทั้งหลาย หรืออาจจะสอบถามผู้มีประสบการณ์โดยตรง ตลอดจนสามารถสำรวจเงินเดือนตำแหน่งที่เราทำปัจจุบันว่าเราได้เท่าไหร่ หากเป็นองค์กรใหญ่มักจะมีฐานเงินเดือนของแต่ละตำแหน่งกำหนดไว้แล้ว จำไว้ว่า หากเราเรียกเงินเดือนที่สูงเกินกว่าองค์กรที่ตั้งไว้ และคุณสมบัติของเราไม่เป็นที่น่าดึงดูดต่อองค์กรที่จะเรียกเงินเดือนแล้วละก็ องค์กรอาจจะเลือกลำดับถัดมาแทนที่เราได้
- ค่าใช้จ่ายในการทำงานที่ใหม่
การย้ายที่ทำงานใหม่และในแต่ละที่ต้องเช็คให้ดีว่ามีรายจ่ายเพิ่มขึ้นมากน้อยเพียงใด ไม่ว่าจะเป็นค่าเดินทาง, ที่พักอาศัย, ค่าอาหาร, ค่าสังสรรค์, รวมถึงค่าครองชีพต่างๆของที่ทำงานใหม่อีกด้วย เราจำเป็นต้องคำนวณค่าใช้จ่ายคร่าวๆต่อเดือน และวางแผนต่อว่าเราต้องทำงานที่นี่ต่อไปอีกกี่ปี อัตราเงินเฟ้อปีละประมาณเท่าไร โดยอัตราเงินเฟ้อจะส่งผลให้ค่าครองชีพของเราเพิ่มขึ้นเป็น 2-3 เปอร์เซ็นต์ต่อปี ข้อมูลค่าใช้จ่ายเหล่านี้สามารถบอกได้ว่าเราควรเรียกเงินเดือนจากองค์กรเท่าไหร่
- คุณค่าความสามารถ ประสบการณ์ และทักษะในการทำงานที่มี
ความสามารถและประสบการณ์ในการทำงาน เป็นอีกหนึ่งข้อที่สามารถเรียกเงินเดือนได้ ตลอดจนสามารถแข่งกับคนอื่นๆในตลาดงานได้ว่าเรามีข้อดีอะไร หรือทักษะที่เหนือกว่าคนอื่นหรือไม่ ไม่ว่าจะเป็นวุฒิการศึกษา ผลงานที่ผ่านมา ผลงานที่ผ่านมา การอบรมหลักสูตรต่างๆเกี่ยวกับสายงาน ตลอดจนการทดสอบความรู้ต่างๆ แน่นอนว่านายจ้างใหม่ต้องยินดีที่จะได้คนเก่งมาร่วมงานในทีมเดียวกัน พึงระวังว่า อย่าให้องค์กรรู้เรื่องเงิน เป็นปัจจัยสำคัญในการเปลี่ยนงาน แต่ต้องทำให้องค์กรรู้ว่าเงินเดือนที่เรียกไปนั้นมีความเหมาะสมกับตำแหน่งงาน และอ้างอิงจากประสบการณ์ ทักษะ และความสามารถที่เรามี ต้องสร้างความประทับใจพร้อมแสดงทัศนคติเชิงบวก เพื่อไม่ให้พลาดงานที่ต้องการ และเรียกเงินเดือนได้ใกล้เคียงกับความต้องการของเรามากขึ้น
- ค่าของความท้าทายในงาน
หากงานใหม่มีความยากในการทำงานมากขึ้น หรือมีความท้าทาย และความเสี่ยงต่างๆที่อาจจะเกิดขึ้นในที่ทำงาน ก็เป็นสิ่งหนึ่งที่เราสามารถเรียกเงินเดือนให้เหมาะกับค่างานได้ หากเราได้เข้าทำงานแล้วจะคุ้มค่ามากน้อยเพียงใด แต่ความท้าทายในงานใหม่นั้น ผู้หางานต้องมีทัศนคติที่ดี คือ ต้องมองว่าเป็นโอกาสการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ และเป็นโอกาสในการพัฒนาตัวเองด้วยเช่นกัน
- ค่าสวัสดิการต่างๆ
การพิจารณาเรื่องเงินเดือนอย่างเดียว อาจจะยังไม่เพียงพอ ควรพิจารณาสวัสดิการต่างๆที่จะได้รับจากที่ทำงานใหม่ว่าเป็นอย่างไร ไม่ว่าจะเป็น สวัสดิการด้านสุขภาพ, ด้านการศึกษาบุตร เป็นต้น เพราะสวัสดิการที่ดีมีความสำคัญไปไม่น้อยกว่าเงินเดือนสูงๆเช่นกัน อีกทั้งเงินเดือนที่ว่าเยอะนั้น ก็อาจจะหมดไปกับค่าใช้จ่ายอื่นๆในการเปลี่ยนที่ทำงานใหม่ด้วยก็ได้ ท้ายที่สุดแล้ว เงินเหลือไม่พอใช้อยู่ดี ดังนั้น ลองเฉลี่ยค่าใช้จ่ายอื่นๆก่อนว่าเงินเดือนที่เราได้รับนั้นพอดีกับค่าใช้จ่ายหรือไม่ ไม่แน่เงินเดือนน้อย แต่สวัสดิการดีกว่าอาจจะตอบโจทย์ความต้องการของเรามากกว่าก็ได้
- ค่าความสามารถที่เหมาะสม
เราลองคำนวณค่าเงินเดือนที่เหมาะสม โดยเริ่มจากการคำนวณเงินเดือนปัจจุบันของเรา ให้นำเงินเดือนในปัจจุบันมาคูณ 12 เดือน หรือหากบริษัทมีโบนัสประจำปี ให้เอาเงินมาคูณ 1 เดือนเข้าไป เช่น 20,000 x 13 = 26,000 จะได้ตัวเลขทั้งปี และหากมีโบนัสที่จ่ายตามผลงานหรือเบี้ยเลี้ยงอื่นๆ ก็สามารถนำมาคิดค่าเฉลี่ย 3 ปีย้อนหลัง (เช่น 40,000+20,000+20,000 = 80,000/3 = 26,667) แล้วนำมารวมกับเงินเดือนต่อปีข้างต้น (260,000+26,667 = 286,667) หารด้วย 12 เดือน (= 23,889 ตีเป็นเลขสวยกลม ๆ 24,000) นี่คือเงินเดือนขั้นต่ำที่เราควรได้รับ
เมื่อได้ตัวเลขเงินเดือนขั้นต่ำที่ควรได้รับแล้ว ก็ให้นำเงินที่ว่ามาบวกเพิ่มด้วยค่างานของงานที่ใหม่ เช่น ค่าความท้าทายของงาน เนื้อหางานใหม่ๆ ที่ต้องเรียนรู้ ยิ่งงานท้าทายมากก็ยิ่งต้องบวกเพิ่ม แต่ควรให้อยู่ในระดับ 10-15 เปอร์เซ็นต์ จึงจะถือว่ากำลังดี เมื่อเรามีหลักการคำนวณอย่างเป็นระบบแล้ว เวลาองค์กรถามก็สามารถตอบได้อย่างมั่นใจพร้อมเหตุผลที่หนักแน่นอีกด้วย
การเปลี่ยนงานใหม่และการเรียกขึ้นเงินเดือน ล้วนจำเป็นต้องใช้ศาสตร์และศิลป์ที่ต้องมีการทำการบ้าน หาข้อมูล เพื่อนำไปสู่การเจรจาต่อรองอย่างมีประสิทธิภาพ เพราะหากเรียกเงินที่สูงเกินไปหรือน้อยเกินไป ก็อาจมีโอกาสเสียงานนั้นไป