คนเปลี่ยนงานบ่อยมักถูกมองทำงานไม่ดี

เปลี่ยนงานบ่อย ๆ คนก็ชอบตั้งข้อสังเกตว่าคุณต้องมีปัญหาอะไรสักอย่าง แต่ที่จริงแล้วยังมีเหตุผลอีกมากมายที่คนเราไม่ควรจมอยู่กับงานเดิม ๆ แล้วอะไรบ้างล่ะที่คนมักเข้าใจผิดเกี่ยวกับคนที่เปลี่ยนงานบ่อย เรามาทำความเข้าใจกันใหม่ดีกว่า

งานคือเงิน เงินคืองาน คนเราทุกคนเกิดมาก็ต้องทำงานไม่ว่าจะทำงานธุรกิจส่วนตัวของตัวเองหรือครอบครัว รวมไปถึงคนที่ทำงานกินเงินเดือนเป็นมนุษย์เงินเดือนอย่างเรา ๆ ทั่วไป คนเราเมื่อทำงานตรงไหนแล้วเปลี่ยนงาน เปลี่ยนแล้วเปลี่ยนอีกจนบางคนอาจจะถูกมองว่าเป็นคนไม่ดี ทำงานไม่ดี มีปัญหาอะไรสักอย่างหนึ่งแน่ ๆ แต่จริง ๆ แล้วคนที่เปลี่ยนงานบ่อย ๆ นั้น ไม่ได้เป็นคนไม่ดี และคนที่เปลี่ยนงานบ่อยที่จริงแล้วยังมีเหตุผลอีกมากมายที่คนเราไม่ควรจมอยู่กับงานเดิม ๆ และบางคนก็อาจจะมีเหตุผลที่น่าชื่นชมและเอาเป็นตัวอย่างก็ได้นะคะ

เรามาทำความเข้าใจกันใหม่ดีกว่า และน่าเสียดายที่หลายครั้งคนที่เปลี่ยนงานบ่อยกลับถูกสังคมภายนอกตัดสินว่าเป็นคนมีปัญหา จนบางคนไม่กล้าเปลี่ยนงาน ยอมทนทำงานที่เดิมไปเรื่อย ๆ จนพลาดโอกาสดี ๆ ในชีวิตไป ดังนั้น JobCute จะพาไปดูกันว่า ความเข้าใจผิดเหล่านั้นมีอะไรบ้าง และเรามองให้ต่างไปได้อย่างไรบ้าง

  1. ความเข้าใจผิด: คนมองว่าเราชอบก่อปัญหา ถึงอยู่ได้ไม่นาน

ความจริง: ต้องการเปลี่ยนงานเพื่อความก้าวหน้าในสายงาน คนเปลี่ยนงานบ่อย มักถูกตั้งข้อสังเกตว่ามีปัญหากับที่เดิมแน่ ๆ ถึงไม่ยอมทำงานกับที่ไหนนาน ๆ ทั้งที่จริงแล้ว คนส่วนใหญ่เปลี่ยนงานโดยไม่จำเป็นต้องทะเลาะกับเพื่อนร่วมงานหรือมีปัญหาอะไรเลย แต่การทำงานที่บริษัทเดิม ทำตำแหน่งเดิม อยู่กับที่เดิม ๆ อาจทำให้คุณรู้สึกเฉื่อยชา ไม่เกิดการกระตือรือร้นไม่ได้เรียนรู้อะไรใหม่ ๆ เพื่อนร่วมงานทีมเดิม หัวหน้างานคนเดิม ทำตำแหน่งพนักงานจัดซื้อ มาจะ 5 ปียังไม่ความก้าวหน้าอะไรเลย เพื่อน ๆ เขาไปถึงไหนต่อไหนกันแล้ว และยิ่งเราไม่ขยันพัฒนาตนเองเสมอ คุณเองก็อาจจะได้รับอิทธิพลการใช้ชีวิตเรื่อย ๆ ตามไปด้วย เพราะเหตุนี้ เราควรที่จะเปลี่ยนงานเพื่อแสวงหาความก้าวหน้าในชีวิต ลองหาทีมใหม่ ประสบการณ์ใหม่ ความท้าทายใหม่ที่จะทำให้คุณเก่งและแข็งแกร่งขึ้น ได้ค้นพบจุดยืนของตนเอง บทความของ Forbes เคยกล่าวไว้ว่า เหตุผลที่คนประสบความสำเร็จมักเปลี่ยนงานบ่อย และถ้าเรารู้ตัวว่าสุดเพดานของบริษัทเดิมแล้ว อย่าลังเล รีบเปลี่ยนงานเปลี่ยนบริษัทใหม่จะดีกว่าค่ะ เพื่อความก้าวหน้าในสายงานของตัวคุณเอง

  1. ความเข้าใจผิด: สู้งานหนักไม่ไหว สงสัยไม่อึด

ความจริง: การเปลี่ยนงานคือทางลัดในการเพิ่มเงินเดือน การสู้งานและพยายามสร้างผลงานดี ๆ นั้นเป็นสิ่งสำคัญ แต่การคิดว่า ความทุ่มเททำงานอย่างหนักจะทำให้ฐานเงินเดือนของคุณเติบโตในระยะเวลาอันสั้นนั้นอาจไม่จริงเสมอไป และการเปลี่ยนงานต่างหากค่ะ ที่จะใช้เป็นวิธีในการปรับฐานเงินเดือนให้เติบโต รวดเร็วกว่าการปรับฐานเงินเดือนประจำปีเสียอีก มีหลายคนที่ยอมเปลี่ยนงานทั้ง ๆ ที่ยังรู้สึกดีกับที่ทำงานเก่าอยู่ ทั้งบรรยากาศการทำงาน เพื่อนร่วมงาน การเดินทาง ทุกอย่างลงตัวหมดไม่ได้มีปัญหาอะไร แต่ต้องการการเปลี่ยนงานเพื่อให้ฐานเงินเดือนเติบโตนั้นจึงเป็นอีกหนทาง แต่อย่างน้อย เราก็ควรบอกหรือแจ้งล่วงหน้าอย่างถูกต้องเพื่อให้บริษัทเก่าของเราหาคนได้ทันก่อนเราออกด้วยนะคะ

  1. ความเข้าใจผิด: เดี๋ยวไม่นานก็คงลาออกอีก

ความจริง: เปลี่ยนงานเพื่อให้ Work Life Balance ดีขึ้น จริงอยู่ที่การเปลี่ยนงานบ่อยอาจทำให้คนมองว่าคุณเป็นพวกไม่ยอมหยุดนิ่ง และตั้งคำถามว่าคุณจะอยู่กับพวกเขาได้นานแค่ไหน แต่ที่จริงแล้ว การอยู่นานหรือสั้นไม่ใช่เพราะความไม่อดทนอย่างเดียว แต่เพราะบางบริษัทขาดการดูแลคนในเรื่องของสวัสดิการต่าง ๆ ไม่ใส่ใจกับพนักงาน บางบริษัทก็ใช้ทำงานล่วงเวลาแต่ไม่จ่ายค่าล่วงเวลา ทำให้พนักงานอาจจะทนไม่ไหว หลายคนจึงพยายามมองหาบริษัทที่ให้พื้นที่ระหว่าง “งาน” และ “ชีวิตส่วนตัว” หรือการย้ายงานเพื่อให้ตัวเองมีวันหยุดเพิ่มขึ้น หรืออย่างน้อย ๆ เพื่อให้สามารถเดินทางไปกลับได้อย่างสะดวกมากขึ้น ทำงานใกล้บ้านขึ้นกว่าเดิม ก็จะช่วยเพิ่มเวลาชีวิตให้เราได้อย่างไม่น่าเชื่อ และแน่นอนจะส่งผลกลับคืนให้ความสามารถในการทำงานดีขึ้นตามไปด้วย

แต่ไม่ว่าจะเปลี่ยนงานด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม อย่าลืมว่าเราก็ต้องคำนึงถึงปัจจัยหลัก 2 เรื่องนี้ด้วยนะคะ อย่างแรกคือ น้อง ๆ ที่จบใหม่ที่ยังไม่มีประสบการณ์เท่าที่ควร ไม่ควรย้ายงานบ่อย ๆ เพราะถือว่าอยู่ในช่วงที่กำลังเก็บเกี่ยวความรู้ ความสามารถให้กับตัวเองให้ถึงที่สุดอยู่ ดังนั้นอย่าเพิ่งใจร้อน ลองเรียนรู้และสะสมประสบการณ์ไปก่อนดีกว่าและอีกเรื่องคือ คนที่ทำงานมาหลายสิบปี และใกล้เกษียณก็ไม่ควรเปลี่ยนงานเด็ดขาด เพราะเป็นวัยที่มีความเสี่ยงในชีวิตค่อนข้างสูง เนื่องจากอายุที่มากแล้ว จะหางานใหม่นั้นก็คงจะไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เพราะมาถึงตอนนี้คุณก็คงจะมีเงินเดือนที่แอบสูงไปแล้ว ใครจะจ้างก็ต้องคิดมากหน่อย ดังนั้น เราจึงไม่ควรปล่อยให้ตัวเองหลุดจากตำแหน่งเด็ดขาด

วางแผนการเงินให้ดี เพื่อเตรียมพร้อมการเปลี่ยนงานแบบกะทันหัน

มาถึงตรงนี้หลายคนคงจะมีการปรับทัศนคติกันเรียบร้อยแล้วนะคะ และคงจะเข้าใจถึงเหตุผลที่ทำให้คนเราเปลี่ยนงานบ่อยกันไปแล้ว ทีนี้เพื่อน ๆ ก็ต้องหันกลับมามองตัวเองสักนิดนึงว่าเรามีโอกาสที่จะเปลี่ยนงานมากน้อยแค่ไหน ซึ่งบางคนไม่ถนัดหางานใหม่ไปทำงานประจำไป ก็อาจจะวางแผนลาออกจากงานมาพักผ่อนก่อนสัก 1 อาทิตย์ แล้วพาตัวเองไปท่องเที่ยวในสถานที่ที่อยากไป เพื่อปลดปล่อย อาจจะมีไอเดียใหม่ ๆ ปิ๊งเข้ามาระหว่างนี้ก็ได้นะคะ แล้วค่อยลงมือหางานใหม่ หรือที่ทำงานใหม่อาจให้เงินเดือนน้อยลงในขณะที่ยังไม่ผ่านโปร ซึ่งระหว่างนี้ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ของเราก็จะยังคงเท่าเดิม ทำให้เรื่องของการวางแผนการเงินนั้นเป็นสิ่งสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม

ทางที่ดีแนะนำว่าพยายามเก็บเงินให้พอมีใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน หรือถ้าเกิดการเจ็บป่วยฉุกเฉินต้องไปรักษาตัวที่โรงพยาบาล และไว้สำหรับใช้ในช่วงระหว่างหางานนี้ไปได้แบบชิล ๆ สัก 2-3 เดือนก่อน แล้วค่อยตัดสินใจลาออกจากงานหรือย้ายงานใหม่ เพราะถ้าไม่อย่างนั้นงานใหม่ก็ยังหาไม่ได้ แต่ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ นั้นก็มีเยอะมากมายก็อาจทำให้เราต้องไปกู้หนี้ยืมสินคนอื่นเอาได้ ซึ่งจะเป็นการสร้างความเดือดร้อนให้กับเราอีกนะคะ

ความคิดเห็นของคุณ

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่