ชาว Gen Z เป็นคนรุ่นใหม่ที่เติบโตพร้อมกับสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ มากมาย และเป็นกลุ่มคนที่มีความสามารถในการใช้งานเทคโนโลยีและเรียนรู้ได้เร็ว เมื่อเทคโนโลยีมีความก้าวหน้าและเติบโตอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ชาว Gen Z เป็นส่วนสำคัญในการที่ทำให้เกิดการทำงานในรูปแบบใหม่ ๆ ขึ้นมา ที่สามารถตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของคนยุคดิจิทัลได้ โดยลักษณะการทำงานจะเป็นในรูปแบบของ Remote Working หรือการทำงานในรูปแบบอิสระ ที่สามารถทำงานที่ไหนก็ได้และไม่จำเป็นต้องเข้าออฟฟิศ จึงทำให้เป็นลักษณะงานที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก เหมาะสำหรับคนที่ต้องการอิสระในการทำงาน รวมถึงไม่มีการบังคับชั่วโมงการทำงานอีกด้วย โดยปกติแล้วคนส่วนใหญ่มักคิดว่าการทำงานในรูปแบบนี้ ต้องเป็นอาชีพฟรีแลนซ์เท่านั้น แต่ปัจจุบันหลายบริษัทไม่ว่าจะเป็นบริษัททั้งในและต่างประเทศ ก็ยื่นข้อเสนอให้กับพนักงานประจำในบางตำแหน่ง เช่น Content Writer, Graphic Designer และ Translator สามารถทำงานที่ไหนก็ได้ที่ตัวเองสะดวก แต่ในขณะเดียวกันนั้น ยังมีอีกหลายบริษัทที่ยังไม่ประสบความสำเร็จ เพราะการทำงานในสภาพแวดล้อมที่อิสระแบบนี้ หากไม่มีวินัยแล้วก็เป็นสิ่งที่ควรระวัง ดังนั้น ลองพิจารณาตัวเองดูว่าเหมาะสมกับลักษณะนิสัยและการทำงานของตัวเองหรือไม่ วันนี้แอดมินก็เลยจะพาทุกคนไปดูว่าข้อดีและข้อเสียของการทำงานในรูปแบบ Remote Working จะเป็นอย่างไร ไปดูพร้อม ๆ กันเลยค่ะ

ข้อดีของการทำงานในรูปแบบของ Remote Working
ชาว Gen Z กับการทำงานในรูปแบบใหม่

1. ประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทาง

ในการทำงานรูปแบบนี้เหมาะสำหรับคนที่อยู่บ้านไกล ๆ เนื่องจากไม่ต้องตื่นเช้าและไม่ต้องเสียเวลากับปัญหารถติด เบียดเสียดกับผู้คนในรถสาธารณะ จนส่งผลให้สุขภาพร่างกายเกิดความอ่อนเพลียได้ เพราะมีเวลาพักผ่อนเพียงไม่กี่ชั่วโมง ตลอดจนค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ที่รวมต่อเดือนแล้วก็เป็นจำนวนเงินไม่น้อยเลยทีเดียว ดังนั้น หากสามารถทำงานที่บ้านได้ ก็จะไม่มีปัญหาเรื่องเวลาและเรื่องการเดินทาง ตลอดจนสามารถพักผ่อนได้อย่างเพียงพออีกด้วย

ชาว Gen Z กับการทำงานในรูปแบบใหม่

2. เจอสภาพแวดล้อมใหม่ ๆ 

เมื่อไม่มีข้อจำกัดในเรื่องของสถานที่ทำงานแล้ว ก็สามารถทำงานที่ไหนก็ได้ ไม่จำกัดอยู่แค่ที่เดียวเท่านั้น โดยอาจจะจัดตารางการทำงานว่าในหนึ่งสัปดาห์จะเปลี่ยนสถานที่ทำงานอย่างน้อย 2 สถานที่ด้วยกัน เพื่อให้เจอสภาพแวดล้อมใหม่ ๆ ไม่จำเจ อีกทั้งยังได้ออกไปเปิดหูเปิดตาบ้าง หรือสามารถทำงานตาม Co-Working Space ได้อีกด้วย จะทำให้คุณได้ไอเดียใหม่ ๆ มากกว่าอยู่ในสภาพแวดล้อมเดิม ๆ ทุกวัน นอกจากนี้ การทำงานนอกสถานที่ ยังทำให้คุณได้เจอเพื่อนใหม่ หรือคอนเนคชั่นทางธุรกิจมากขึ้นอีกเลยก็ว่าได้

ชาว Gen Z กับการทำงานในรูปแบบใหม่

3. ลดสภาวะความเครียด 

สังคมการทำงานไม่ใช่ว่ามีแค่เรื่องงานเท่านั้น แต่ยังต้องเรียนรู้การอยู่ร่วมกันระหว่างเพื่อนร่วมงานอีกด้วย ดังนั้น “การอยู่เป็น” จึงกลายเป็นทักษะที่มีความสำคัญมากสำหรับทุกคนเลยทีเดียว ในบางครั้งเราต้องวางตัวเหมือน “เอาหูไปนา เอาตาไปไร่” บ้าง เพื่อไม่ให้ตัวเองเดือดร้อน จึงไม่น่าแปลกใจเลยว่า สาเหตุที่พนักงานเก่ง ๆ ลาออก เนื่องจากดราม่าในที่ทำงาน ดังนั้น การทำงานนอกสถานที่ สามารถทำให้คุณห่างไกลจากความขัดแย้งต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นภายในองค์กรได้เป็นอย่างดีเลยทีเดียว

ข้อเสียของการทำงานในรูปแบบของ Remote Working
ชาว Gen Z กับการทำงานในรูปแบบใหม่

1. ขาดทักษะการทำงานในรูปแบบของ Team Work 

การทำงานในรูปแบบของ Remote Working เป็นการทำงานคนเดียว โดยไม่ได้พูดคุยกันต่อหน้า จนในบางครั้งอาจจะทำให้เกิดความเข้าใจผิดได้ และขาดการปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงาน ตลอดจนขาดทักษะการทำงานแบบ Team Work เพราะไม่มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นหรือไม่ได้รับความสนใจจากเพื่อนร่วมงาน นอกจากนี้ การทำงานนอกสถานที่ยังส่งผลให้ความรู้สึกไม่ซึมซับกับวัฒนธรรมองค์กร เนื่องด้วยคุณอาจจะไม่ได้เข้าร่วมกิจกรรมกับบริษัทบ่อยนัก จึงเป็นหนึ่งเหตุผลที่ทำให้คนทำงานนอกออฟฟิศ มักจะรู้สึกเหงาและโดดเดี่ยว

ชาว Gen Z กับการทำงานในรูปแบบใหม่

2. อุปสรรคในการสื่อสาร

ถึงแม้ว่าเทคโนโลยีจะช่วยให้เราติดต่อรับส่งงานได้เร็วขึ้น แต่อย่าลืมว่าการสื่อสารผ่านตัวอักษร โดยไม่ได้พูดคุยกันต่อหน้า อาจจะทำให้เกิดความเข้าใจผิดและคลาดเคลื่อนได้ ยิ่งถ้าคุณทำงานกับชาวต่างชาติแล้ว อาจจะมีอุปสรรคเรื่องภาษาและวัฒนธรรมการทำงานได้ ดังนั้น การสื่อสารแบบตัวต่อตัว นับว่ายังมีความสำคัญอยู่ไม่น้อย ทังนี้การทำงานในลักษณะของ Remote Working มีความแตกต่างของเรื่องเวลามาเกี่ยวข้องอีกด้วย ยิ่งในกรณีที่คุณและบริษัททำงานคนละประเทศแล้ว ยิ่งส่งผลให้มีอุปสรรคในการสื่อสารแบบทันทีทันใดได้ เนื่องจากมีช่วงเวลา Time Zone ที่แตกต่างกันออกไป

ชาว Gen Z กับการทำงานในรูปแบบใหม่

3. ขาดระเบียบวินัยในการทำงาน

สำหรับคนที่มีระเบียบวินัยในการทำงาน อาจจะไม่ส่งผลกระทบใด ๆ ต่อคุณภาพของเนื้องาน แต่หากไม่มีวินัยในการทำงานมากพอและไม่สามารถบริหารจัดการเวลาได้ดีแล้ว ย่อมส่งผลให้ทำงานไม่สำเร็จตามที่ได้วางไว้ ซึ่งการทำงานแบบนี้ นับว่าเป็นการทำงานที่มีเวลาไม่แน่นอน อาจทำให้แยกเวลาส่วนตัวออกจากการทำงานลำบาก นอกจากนี้ การทำงานที่บ้านหรือตามคาเฟ่ต่าง ๆ ก็อาจจะมีสิ่งรบกวนสมาธิไม่น้อย เนื่องจากเป็นการทำงานอิสระ ซึ่งคุณสามารถดูหนัง ฟังเพลงเพลิน จนกระทบกับงาน ซึ่งแตกต่างไปจากการทำงานที่ออฟฟิศ ที่อยู่ท่ามกลางเพื่อนร่วมงานและหัวหน้าที่ช่วยกระตุ้นให้เราขยันและ Active ไปในตัวอีกด้วย

แม้ว่าปัจจุบัน เราสามารถทำงานได้ในหลากหลายรูปแบบก็ตาม ทั้งหมดนี้ล้วนมีข้อดีและข้อเสียแตกต่างกันออกไป ซึ่งสิ่งสำคัญคือ เราต้องรู้ว่าตัวเองเหมาะกับการทำงานในรูปแบบไหนที่สามารถพัฒนาทักษะความรู้ความสามารถ ที่จะส่งผลดีให้กับตนเองและบริษัทอีกด้วย อย่างไรก็ตาม แนวโน้มการทำงานในรูปแบบของ Remote Working หรือการทำงานอิสระโดยไม่ต้องเข้าออฟฟิศนั้น ก็ยังถือว่าได้รับความนิยมอยู่เรื่อย ๆ และอีกไม่นานคงได้เห็นบริษัทในประเทศไทยเปิดกว้างกับการทำงานที่ยืดหยุ่นกันมากขึ้นแน่นอน

ความคิดเห็นของคุณ

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่