ชีวิตมนุษย์เงินเดือน เมื่อถึงเวลาที่ต้องลาออกจากงาน ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม หลายๆคนมักจะเลือกหางานใหม่แล้วค่อยลาออกจากงานเก่า ในขณะที่มีคนอยู่จำนวนน้อยมากที่เลือกจะลาออกก่อน แล้วค่อยหางานใหม่เอาดาบหน้า ทั้งนี้ ไม่ว่าหางานใหม่หรือค่อยหางานย่อมมีข้อดีและข้อเสียที่แตกต่างกันไป วันนี้ทางเว็บไซต์ Jobcute จะนำเสนอบทความเกี่ยวกับเราควรลาออกตอนไหนดี รอให้ได้งานใหม่ก่อน หรือค่อยหางานใหม่เอาดาบหน้ามาฝากทุกคนค่ะ
รอให้ได้งานใหม่แล้วลาออก – วิธีที่ Safe ตัวเองมากที่สุด
สำหรับพนักงานหลายคนที่มีประสบการณ์ในการทำงานมาหลายปี มักใช้วิธีนี้ คือ หางานใหม่แล้วค่อยลาออก เพราะงานปัจจุบันสามารถรองรับรายได้จนกว่าจะได้งานใหม่ และอีกหนึ่งเหตุผลคือ การที่ลาออกแล้วค่อยหางานใหม่ ทำให้เรามีช่วงว่างในระยะหนึ่ง ซึ่งเป็นผลไม่ค่อยดีในเรซูเม่หากประวัติการทำงานของคุณหายไปช่วงหนึ่ง และอาจจะถูกตั้งคำถามจาก HR บริษัทใหม่ได้ ข้อดีของการรอให้ได้งานใหม่แล้วลาออก คือ เราสามารถวางแผนเรื่องการเงิน เรื่องส่วนตัวได้ เช่น คุณอาจจะเริ่มงานที่ใหม่หลังจากที่ได้รับเงินโบนัสจากที่เก่า หรือสามารถวางแผนในการเที่ยวต่างจังหวัดหรือต่างประเทศได้ นอกจากนี้สามารถเลือกวันทำงานเริ่มงานได้โดยไม่กระทบกับวันหยุดหรือการเริ่มงามใหม่ก็ตาม
โดยทั่วไปแล้ว หากคุณได้งานใหม่เรียบร้อยแล้ว สามารถเผื่อเวลาในการเริ่มทำงานบริษัทใหม่ได้ 30 วันล่วงหน้า ซึ่งเป็นระยะเวลาที่เดียวกันที่คุณสามารถตัดสินใจยื่นลาออกจากบริษัทเก่า ซึ่งโดยปกติแล้ว ต้องแจ้งล่วงหน้าก่อน 30 วัน เนื่องจากคุณสามารถเคลียร์งานที่เหลือ และส่งมอบงานให้กับหัวหน้าและเพื่อนร่วมงานที่จะมาทำงานแทนที่ได้
ในส่วนของมุมมองของเว็บไซต์ Jobcute การลาออกแบบนี้คือการลาออกจากงานที่ดีที่สุด ไม่ว่าจะเป็นองค์กรเดิมที่เราทำงานอยู่ และบริษัทใหม่ที่สามารถเตรียมงานการเริ่มงานของคุณได้อย่างเหมาะสม ดังนั้น ทางเว็บไซต์ขอแนะนำวิธีนี้ก่อนที่จะลาออกจากงาน
ลาออกก่อนแล้วค่อยหางานใหม่ – เสี่ยงในเรื่องของการเงิน
แม้ว่าการเตรียมงานใหม่ จะผ่านการสัมภาษณ์ให้เรียบร้อยแล้วถึงได้งานใหม่ก่อนยื่นลาออก จัดว่าเป็นการตัดสินใจที่ดีที่สุด แต่ในชีวิตการทำงานเราจะต้องพบเจอกับองค์กรที่ทำให้เราจะอยากจะยื่นลาออกให้เร็วที่สุด
ทางเว็บไซต์ Jobcute ขอแนะนำวิธีนี้ให้เป็นวิธีสุดท้ายหากไม่มีตัวเลือกจริงๆ เพราะว่าจะมีความเสี่ยงในหลายๆด้าน โดยเฉพาะในเรื่องของการเงิน ซึ่งการลาออกแบบนี้เป็นวิธีที่สร้างแรงกดดันให้กับตัวเรามากที่สุด เนื่องจากหลายคนมีภาระหนี้ ค่าใช้จ่ายต่างๆที่ต้องรับผิดชอบ แต่สำหรับคนที่ไม่มีปัญหาในเรื่องเงินนี้ ก็ถือว่าดีกว่านิดนึง
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าคุณไม่มีภาระทางการเงินให้รับผิดชอบก็ตาม ก็จะส่งผลให้เรซุเม่ของคุณมีช่วงว่างงาน และอาจจะเกิดคำถามจาก HR จากที่ทำงานใหม่ได้ และหากคุณมีภาระทางการเงินที่จะต้องรับผิดชอบ จะทำให้คุณเสียรายได้ และมีโอกาสติดลบทันที ซึ่งเป็นการลาออกที่สร้างภาระและความกดดันสูงที่สุด
ทาง Jobcute ได้รวบรวมสาเหตุที่ทำให้คุณตกอยู่ในสภาวะที่ต้องลาออกจากงานโดยไม่มีงานรองรับเพราะมีสาเหตุหลักๆ ดังต่อไปนี้
- องค์กรและวัฒนธรรม เมื่อเข้าไปทำงานแล้วเจอกับสภาพองค์กรและวัฒนธรรมที่ไม่สามารถทนทำงานได้ หรืออาจจะมีปัญหาขัดข้องกับความเชื่อส่วนตัว แล้วต้องทำงานด้วยความคับข้องใจและไม่สบายใจ อาจจะทำให้คุณต้องยื่นใบลาทันทีทันใด
- หัวหน้างาน จัดว่าเป็นเรื่องใหญ่ที่เป็นผลให้พนักงานต้องลาออก เพราะหากเราทำงานกับหัวหน้าที่เข้าขั้นรับไม่ได้ หรือมอบหมายเกินความสามารถของคุณ ถึงแม้ว่าเราเคยเปิดใจคุยเกี่ยวกับแนวทางการทำงานและวิธีการต่างๆแล้ว แต่สุดท้ายหัวหน้ายังกลับใช้วิธีการในแบบของตนเองโดยไม่ฟังความคิดเห็นของคุณ คงเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ต้องลาออก
- ลักษณะเนื้องาน แม้ว่าตอนสัมภาษณ์งานคุณได้คุยถึงรายละเอียดของงานเรียบร้อยแล้ว พอถึงเวลาทำงานจริงๆ คุณอาจจะต้องทำงานที่ไม่ตรงกับตอนที่คุยตอนแรก แถมยังเป็นสิ่งที่คุณไม่ชอบ ไม่ถนัด ยิ่งทำให้ตัวคุณเกิดสภาวะหมดไฟในการทำงาน สุดท้ายแล้วต้องลาออกจากงานเพื่อหนีความเครียดดังกล่าว
- เรื่องส่วนตัวของผู้ทำงาน สาเหตุสุดท้ายของผู้สมัครแล้วเพิ่งได้งานใหม่ แต่กลับลาออกกะทันหัน คือ อาจมีความเป็นไปได้หลายเหตุผลด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาที่บ้าน หรือแม้แต่ปัญหาสุขภาพต่างๆ ล้วนเป็นสาเหตุให้ยื่นลาออกกะทันหันได้