บริษัทควรทำอย่างไรดี เมื่อพนักงานไม่ผ่านโปร
เชื่อว่าหลาย ๆ คนกว่าจะได้บรรจุเป็นพนักงานของบริษัทได้อย่างเต็มตัวนั้น ก็คงจะต้องผ่านการทดลองงานด้วยกันทั้งนั้น วันนี้ทาง JobCute ได้นำสาระดี ๆ มาฝากกันว่าบริษัทจะต้องทำอย่างไรบ้าง ถ้าหากพนักงานไม่ผ่านโปร หรือไม่ผ่านการทดลองงาน เราไปติดตามกันเลยนะคะ
ในฐานะของบริษัทเมื่อมีความต้องการพนักงานเข้ามาทำงานใหม่ ก็จะต้องมีกระบวนการในการคัดเลือกและสรรหาผู้ที่มีความรู้ความสามารถเหมาะในการทำงานกับตำแหน่งงานที่ว่างอยู่ ในขั้นตอนแรกก็เป็นการเปิดรับสมัครให้ผู้ที่สนใจอาจจะทั้งภายนอกและภายในบริษัท เพื่อให้ส่งใบสมัครและรายละเอียดการศึกษา ประสบการณ์ในการทำงานเข้ามา การพิจารณาคัดเลือกผู้สมัครจากใบสมัครถือเป็นด่านแรกของการคัดเลือกพนักงาน หากความรู้ความสามารถและประสบการณ์ตรงกับตำแหน่งที่ต้องการ ขั้นตอนต่อไปก็จะเป็นขั้นตอนของการเรียกเข้ามาสัมภาษณ์งาน การสัมภาษณ์งานมีความจำเป็นอย่างมาก เพื่อเป็นการพบปะกับผู้สมัคร โดยบริษัทจะมีโอกาสได้พูดคุย สังเกตปฏิภาณไหวพริบในการตอบคำถาม ทัศนคติในเรื่องต่าง ๆ รวมถึงได้เห็นบุคลิกภาพโดยรวมของผู้สมัคร ซึ่งข้อมูลที่ได้จากการสัมภาษณ์งานนี้จะเป็นส่วนเพิ่มเติมที่ข้อมูลในใบสมัครไม่สามารถบอกได้ เมื่อผ่านขั้นตอนการสัมภาษณ์แล้ว ก็จะถือว่าเป็นพนักงานของบริษัทอย่างเต็มตัว
แต่ที่จริงการเลือกสรรก็ยังไม่ได้จบเพียงแค่นั้น หลังจากเริ่มเข้ามาทำงานในบริษัทแล้ว ช่วงแรกก็ถือเป็นช่วงทดลองงาน ช่วงทดลองงานนี้จะสั้นยาวแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับแต่ละบริษัทเป็นคนกำหนด ความจำเป็นของช่วงทดลองงานก็เพื่อให้บริษัทมีโอกาสได้เห็นการทำงานจริงของพนักงาน ว่าความรู้ความสามารถนั้นใช้ปฏิบัติงานในตำแหน่งนั้นได้จริง อีกทั้งยังเป็นช่วงที่จะใช้สังเกตเรื่องอื่น ๆ ของพนักงานด้วย เช่น ความตรงต่อเวลา ความรับผิดชอบต่องาน ฯลฯ พนักงานส่วนมากเมื่อผ่านเข้ามาถึงการได้เข้าทำงานกับบริษัทแล้ว ก็ไม่ค่อยจะมีปัญหาเรื่องการไม่ผ่านการทดลองงาน อีกทั้งรู้ว่าเป็นช่วงทดลองงานอยู่ ก็จึงต้องพยายามปฏิบัติตนอย่างดีที่สุด เพื่อให้ผ่านพ้นช่วงทดลองงานนี้ไปได้ แต่ก็มีเช่นกันสำหรับพนักงานบางคนที่ไม่ผ่านช่วงของการทดลองงานหรือเรียกว่าไม่ผ่านโปรก็จะต้องลาออกจากบริษัทไปในที่สุด
คราวนี้เราจะมาดูกันต่อนะคะเกี่ยวกับกฎหมายแรงงาน ว่ามีการระบุไว้อย่างไรบ้าง ซึ่งเราจะพบว่ากฎหมายไม่ได้ระบุในเรื่องของการทดลองงานไว้ จึงทำให้สภาพการจ้างงานของพนักงานตั้งแต่วันแรกที่ทดลองงาน ก็เปรียบได้กับว่าเป็นพนักงานของบริษัทคนหนึ่งที่มีสิทธิ์เหมือนกับพนักงานทั่วไป ในเรื่องของการได้รับเงินเดือนหรือค่าจ้างตามที่ตกลงไว้ รวมถึงหากเกิดกรณีป่วยขึ้น ก็มีสิทธิ์ลาได้ตามกฎหมายโดยที่ยังได้รับค่าจ้างอยู่ ยกเว้นลาพักร้อนที่มีข้อกำหนดไว้ว่าพนักงานจะต้องทำงานครบ 1 ปีก่อน จึงจะมีสิทธิ์ใช้ลาพักร้อนได้ ช่วงระยะเวลาที่ทดลองงานอย่างที่ว่าเป็นช่วงที่บริษัทใช้เวลาเพื่อดูการทำงานจริงของพนักงาน จึงจำเป็นต้องมีการประเมินผลการทำงานในช่วงทดลองงานนี้ด้วย เพื่อให้ทราบเหตุผลที่พนักงานผ่านหรือไม่ผ่านการทดลองงาน การทำประเมินผลนี้มีข้อดีคือทำให้ตัวพนักงานเองก็ได้รู้ด้วยว่าตนเองทำงานเป็นอย่างไร เมื่อประเมินผลเสร็จก็ต้องมีการเรียกพูดคุยกันเพื่อทำความเข้าใจว่าผ่านหรือไม่ผ่านเพราะเหตุผลใด
สำหรับพนักงานที่บริษัทมองแล้วว่าผ่านการทดลองงานอย่างแน่นอนก็ไม่มีปัญหาอะไร เนื่องจากสุดท้ายพนักงานคนนั้นก็จะกลายเป็นพนักงานบริษัทต่อไปในที่สุด แต่สำหรับพนักงานที่บริษัทมองแล้วว่ามีโอกาสที่จะไม่ผ่านการทดลองงาน ทำงานไม่ผ่านโปร บริษัทก็จะต้องมีขั้นตอนที่จะต้องปฏิบัติกับพนักงานคนนั้นให้เหมาะสมต่อไป ซึ่งก็คือหากบริษัททราบและแจ้งพนักงานเรื่องไม่ผ่านการทดลองงานได้เร็วก็จะเป็นประโยชน์กับบริษัทเอง เพราะไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้กับพนักงานคนนั้นหากทำงานครบ 120 วัน
ข้อแนะนำสำหรับบริษัท ก็คือควรกำหนดระยะเวลาในการทดลองงานไว้ก่อนครบ 120 วัน หากไม่ต้องการจ่ายค่าชดเชยเพิ่มอีก 1 เดือนนี้ โดยเฉพาะหากเห็นแล้วว่าพนักงานคนนั้นไม่น่าจะเหมาะกับงานที่ทำอยู่หรือด้วยเหตุผล อื่น ๆ เรียกง่าย ๆ ว่าไม่ผ่านการทดลองงาน ก็ควรมีการประเมินผลและพูดคุยก่อนพนักงานทำงานครบ 120 วัน มีหลายบริษัทที่ปล่อยเวลาล่วงเลยจนครบ 120 วัน แล้วจึงมาพิจารณาให้ไม่ผ่านการทดลองงาน ซึ่งตามกฎหมายก็ถือว่าเป็นการเลิกจ้าง ถ้าพนักงานไม่ทราบข้อกฎหมาย ยอมเซ็นใบลาออกแต่โดยดี ก็ไม่มีปัญหาอะไร แต่ถ้าพนักงานคนนั้นรู้ข้อกฎหมาย ก็สามารถเรียกร้องเงินชดเชย 1 เดือนนี้กับบริษัทได้ นอกจากนั้นหากแจ้งว่าไม่ผ่านการทดลองและไม่ต้องมาทำงานแล้ว เรียกว่าเป็นค่าบอกกล่าวล่วงหน้าก็ต้องจ่ายเพิ่มอีก 1 เดือน หากไม่อยากจ่ายก็ต้องให้พนักงานคนนั้นทำงานต่อไปอีก 1 เดือน
เราจะกล่าวสรุปง่าย ๆ ก็คือ หากแจ้งพนักงานว่าไม่ผ่านการทดลองเมื่อพนักงานทำงานมาครบ 120 วันแล้ว และไม่บอกกล่าวล่วงหน้า คือบอกแค่พรุ่งนี้ไม่ต้องมาทำงานแล้ว ต้องจ่ายค่าชดเชยให้พนักงานรวม 2 เดือน ( เงินชดเชยเลิกจ้าง + ค่าบอกกล่าวล่วงหน้า)ในขณะที่หากพนักงานไม่ผ่านการทดลองงาน แล้วบริษัทแจ้งและดำเนินการก่อนทำงานครบ 120 วัน บริษัทก็ไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยอะไรเลย ดังนั้น บริษัทควรกำหนดระยะเวลาการประเมินผลของพนักงานในช่วงทดลองงานไว้เผื่อในเรื่องนี้ด้วย โดยอาจกำหนดการประเมินไว้ตั้งแต่ทำงานครบ 90 วันเลยก็ได้ ระยะเวลา 3 เดือน คิดว่าน่าจะเพียงพอที่จะได้เห็นการทำงานของพนักงานหนึ่งคน หากมีการติดตามและใส่ใจในการปฏิบัติงานของพนักงานอยู่เป็นประจำ
ส่วนขั้นตอนที่จะต้องแจ้งพนักงานว่าไม่ผ่านการทดลองงานก็ควรเลือกพูดคุยกันให้ห้อง เลือกคำพูดที่เหมาะสมและให้กำลังใจว่าอาจจะมีงานอื่นที่เหมาะกับเขามากกว่าบริษัทเรา โดยมากเมื่อพนักงานทราบผลว่าไม่ผ่านการทดลองงาน ก็มักจะขอลาออกทันที แต่ก็มีบ้างก็อยากทำงานต่อจนกว่าจะหางานใหม่ทำได้ หากเป็นกรณีนี้บริษัทจะสามารถพิจารณาได้ แต่อย่างไรก็ควรให้ระยะเวลารวมแล้วไม่เกิน 120 วัน หากพนักงานขอให้บริษัทออกหนังสือเลิกจ้างงาน บริษัทก็จะต้องชี้แจงพนักงานว่าการออกหนังสือลักษณะดังกล่าวจะมีผลทำให้เขาเสียประวัติได้ แต่ถ้าพนักงานยืนยันที่จะให้ออกหนังสือ บริษัทก็ต้องไม่ลืมที่จะระบุสาเหตุในการเลิกจ้างไว้ด้วย รวมถึงต้องวางแผนในเรื่องของระยะเวลาให้ดีเพื่อที่จะได้ไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย 2 เดือน โดยที่พนักงานคนนั้นไม่ได้ทำงานให้กับเราแล้ว