สิ่งที่ควรรู้แต่ HR ไม่เคยบอก

HR หรือฝ่ายบุคคลนั้น ถือได้ว่าเป็นตัวแทนของพนักงานที่คอยเอื้อเฟื้อช่วยเหลือให้คำปรึกษาแก่พนักงานได้ในหลาย ๆ เรื่องที่เกี่ยวกับงาน แต่ในบางบทบาทที่ HR จะต้องถูกมอบหมายให้อยู่ในฐานะตัวแทนของบริษัท นั่นก็คือจะต้องทำหน้าที่สื่อสารกับพนักงานในหลาย ๆ เรื่อง และต้องรักษาผลประโยชน์ของบริษัท เคยรู้หรือไม่ว่าเรื่องบางเรื่องที่ HR ไม่สามารถที่จะบอกให้กับพนักงานได้รับรู้ และเราเองก็ไม่เคยรู้มาก่อน JobCute ได้แอบไปสืบทราบความลับเหล่านั้น และวันนี้จะพาทุกคนไปรู้เกี่ยวกับ 14 ข้อที่เราควรรู้ สำหรับน้องนักศึกษาจบใหม่ที่กำลังมองหางานและพนักงานรุ่นเก่าที่อยู่มานาน แต่ไม่เคยรู้ว่าพนักงานอย่างเรา ๆ มีสิทธิ์อะไรบ้าง

1.Resume เรซูเม่ที่ดีนั้นคือเรซูเม่ที่ให้ข้อมูลว่าสามารถทำงานอะไรได้บ้าง และต้องการเงินเดือนเท่าไร ถ้าเขียนมาให้ครบ HR จะตัดสินใจง่ายในการส่งต่อใบสมัครงาน ส่วนใบสมัครที่จะถูกเมินและเพิกเฉยกลุ่มแรกๆ คือคนที่สะกดผิดเยอะๆ โดยเฉพาะชื่อมหาวิทยาลัยของตัวเอง ซึ่งก็คงจะมีไม่น้อยเลย โดยเฉพาะเด็กรุ่นใหม่ คนที่ไม่รู้ว่าการเขียนอีเมลเชิงธุรกิจด้วยภาษาสุภาพเป็นอย่างไร อันนี้ขอแนะนำให้ใช้บริการส่งใบสมัครทางเว็บไซต์สมัครงานจะดีกว่าส่งอีเมลตรงหาบริษัทนะคะ

2.ช่วงเวลาที่มีคนลาออกมากที่สุดคือเดือนมกราคม (หลังจากได้โบนัส) และกรกฎาคม (ไปเริ่มงานที่ใหม่เพื่อจะได้ผ่านทดลองงานก่อนสิ้นปี) ถ้าต้องการจะหางานใหม่ ให้หาในช่วงนั้น จะมีตำแหน่งงานว่างเยอะกว่าปกติ แต่ในปัจจุบันก็มีหลายบริษัทที่ปรับช่วงเวลาการจ่ายโบนัสออกไป แต่ก็ยังจะอยู่ในไตรมาสแรกเป็นส่วนใหญ่ ช่วงนั้นจึงเป็นโอกาสทองในการหางานใหม่นะค่ะ

3.ปัจจุบันเว็บไซต์ต่างๆ ที่รับสมัครงานมีฟังก์ชันให้บริษัทบันทึกประวัติว่าผู้สมัครคนไหนที่นัดสัมภาษณ์แล้วไม่มาตามนัดนั่นก็จะแสดงให้บริษัทอื่น ๆ ได้เห็นด้วยว่าเราไปทำอะไรไว้บ้าง

4.HR มีวิธีการสืบประวัติผู้สมัครหลายช่องทาง เช่น โทรไปถามที่ทำงานเก่า ค้นชื่อจากในอินเทอร์เน็ต หรือเปิดดูในเฟซบุ๊ก บางคนที่เคยโพสต์ด่าเจ้านาย ด่าบริษัท หรือโพสต์อะไรแย่ๆ แรงๆ แล้วเปิดเป็น สาธารณะไว้ อาจจะมีสิทธิ์พลาดโอกาสในการทำงานได้นะ

5.ถ้าผ่านสัมภาษณ์แล้ว HR โทรมาต่อรองเรื่องเงินเดือน แต่มันต่ำกว่าอัตราที่เราขอไปในครั้งแรก อย่าลดเงินเดือนถ้าหากเราไม่สบายใจ เพราะตอนที่เลือกใบสมัครและสัมภาษณ์จบแล้ว นั่นแสดงว่าอัตราที่เราขอไปเป็นอัตราที่บริษัทพิจารณาแล้ว ที่สำคัญคือถ้าเราประเมินรายได้ที่เราควรจะต้องได้รับแล้วได้น้อยกว่านั้น เราจะไม่รู้สึกเต็มร้อยกับงานนั้น

6.ถ้านายจ้างตกลงจ้างแล้วยกเลิกการจ้าง เราสามารถฟ้องร้องทางแพ่งได้นะ ถึงแม้ว่าจะมีสัญญาหรือไม่มีสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษร

7.วันหยุดพักผ่อนประจำปีหรือเรามักจะเรียกกันว่าวันพักร้อน เป็นสิทธิ์ของพนักงานที่จะลาไปไหนก็ได้ อาจจะไปท่องเที่ยว พักผ่อนและผ่อนคลาย หรือไปทำธุระส่วนตัว ซึ่งนายจ้างจะเป็นผู้กำหนดวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้พวกเราทราบล่วงหน้าหรือกำหนดร่วมกัน แต่ถ้าบริษัทฯ ไม่มีประกาศ หรือข้อตกลงว่าพนักงานสามารถลาพักร้อนได้เมื่อไหร่บ้าง ก็ถือว่าเป็นสิทธิ์ที่พนักงานจะใช้วันพักร้อนได้ตามอิสระ ซึ่งถ้าไม่มีการตกลงเลื่อนสมทบวันพักร้อนที่ใช้ไม่หมดไปปีถัดไป พนักงานสามารถรับคืนเป็นเงินเท่ากับค่าจ้างต่อวันแทนได้ ในกรณีที่ขอใช้วันพักร้อนไปแล้วหัวหน้าไม่อนุมัติให้หยุด

8.สิ่งที่ทุกคนต้องสนใจคือข้อบังคับในการทำงานที่ทุกบริษัทต้องมี ถ้าไม่มีไปถามหาจาก HR ได้เลย และต้องอ่านด้วยนะ เพื่อจะได้รู้ว่าอะไรบ้างที่เป็นนโยบายที่เกี่ยวข้องกับเรา ต้องถามว่าเก็บไว้ที่ไหน สามารถเข้าไปอ่านได้อย่างไร เพราะในนั้นจะต้องประกอบไปด้วยกฎระเบียบ ข้อบังคับ สิทธิ์ต่าง ๆ ที่พนักงานควรจะต้องทราบ เพราะมีลูกจ้างจำนวนมากที่ถูกนายจ้างเอาเปรียบด้วยการทำให้รู้ไม่หมด

9.ไม่มีการทดลองงาน การเลิกจ้างลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ 120 วันขึ้นไป โดยที่ลูกจ้างไม่มีความผิด นายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยตามอายุงาน หมายความว่า การระบุเรื่องทดลองงานมีผลกับเราว่านายจ้างต้องตัดสินใจก่อนที่จะครบ 120 วัน ถ้าเลยจากนั้น การมาบอกว่าเราไม่ผ่านทดลองงาน เราต้องได้รับค่าชดเชย โดยไม่รวมค่าบอกกล่าวล่วงหน้าอีกด้วย

10.การลาออกเป็นสิทธิ์ของลูกจ้าง จะแจ้งด้วยวิธีไหนก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเขียนใบลาออกของบริษัทก็ได้นะ แต่ก็เป็นมารยาทแค่นั้นค่ะ จากกันไปให้คนจดจำในทางที่ดีย่อมจะดีกว่า

11.การแจ้งลาออกอย่างน้อย 30 วัน อาจจะมีผลกับเงินสมทบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพส่วนของนายจ้างนะ ต้องศึกษาเงื่อนไขกองทุนก่อนลาออกให้ดีเสียก่อน ไม่อย่างนั้นอาจจะไม่ได้เงินสมทบในส่วนของนายจ้างได้ทั้งก้อน

12.ในกรณีที่บริษัทมีประกันชีวิตและกองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้ จะต้องมีแบบฟอร์มให้กรอกชื่อผู้รับสิทธิ์กรณีที่พนักงานเสียชีวิต เมื่อกรอกไปแล้วและมีการเปลี่ยนแปลงเช่น ผู้รับสิทธิ์เดิมเสียชีวิตไปก่อนแล้ว หรือแต่งงานมีเมีย มีลูกแล้วต้องการเปลี่ยนผู้รับสิทธิ์ก็ควรจะแก้ไขให้ถูกต้องตามที่ต้องการอย่าได้เพิกเฉย

13.ระบบไอทีของบริษัทสามารถมอร์นิเตอร์ได้ตลอดเวลาว่าเราทำอะไรในคอมพิวเตอร์บริษัทบ้าง เข้าเว็บไหน โพสต์อะไร และทั้งหมดสามารถใช้เป็นหลักฐานในการลงโทษพนักงานได้ เนื่องจากว่าคอมพิวเตอร์นับเป็นทรัพย์สินของนายจ้างที่ลูกจ้างได้รับเพื่อใช้ในการปฏิบัติงาน และผลที่เกิดจากการทำงานตามค่าจ้างนั้นย่อมเป็นของนายจ้าง เขาจึงสามารถทำอะไรกับคอมพิวเตอร์ของเราก็ได้

14.นายจ้างต้องออกหนังสือรับรองการทำงาน หรือการผ่านงานให้ลูกจ้างในทุกกรณีที่มีการขอ และห้ามระบุข้อความที่เป็นลบกับลูกจ้างลงในหนังสือรับรองการทำงานเด็ดขาด

สุดท้าย สิ่งที่สำคัญอยากจะฝากไว้ก็คือ อยากจะให้ทุกคนเลือกทำงานในบริษัทที่มีความมั่นคงและให้โอกาสในการพัฒนาตัวเอง อย่าเลือกเพียงเพราะแค่เงินเดือนเพียงอย่างเดียว รวมไปถึงการคำนึงถึงสวัสดิการและวัฒนธรรมองค์กรก็เป็นเรื่องสำคัญ เพราะที่ไหนที่เราอยู่แล้วมีความสุข เราก็ต้องรักษาและตั้งใจทำงานกับบริษัทนั้น ๆ อย่างเต็มที่ เพื่อพิสูจน์ให้หัวหน้าเห็นถึงความตั้งใจในการทำงานของเรานะคะ

ความคิดเห็นของคุณ

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่