แอร์โฮสเตส และสจ๊วต อาชีพในฝันใครหลายคน  

แอร์โฮสเตส และสจ๊วต หมายถึง  ผู้พิทักษ์ความปลอดภัยและอำนวยความสะดวกสบายแก่ผู้โดยสารบนอากาศยาน โดยมีหน้าที่ต่าง ๆ เช่น คอยดูแลช่วยเหลือผู้โดยสารในกรณีฉุกเฉิน รับผิดชอบตรวจเช็คอุปกรณ์ประจำเครื่องตามจุดต่าง ๆ เช่น ถังออกซิเจน เครื่องดับเพลิง ไฟฉาย หน้ากากออกซิเจน และเสื้อชูชีพ สำหรับสาธิตให้ผู้โดยสาร และให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานได้อยู่ตลอดเวลา นอกจากนี้ยังมีหน้าที่ในการให้บริการด้านต่าง ๆ แก่ผู้โดยสาร เช่น การเตรียมอาหาร การเสิร์ฟอาหารและเครื่องดื่ม การให้การรักษาพยาบาลแก่ผู้โดยสารที่เกิดเจ็บป่วย การจัดหาที่นั่งให้กับผู้โดยสาร ตรวจดูให้ผู้โดยสารรัดเข็มขัดก่อนเครื่องบินขึ้นหรือลง และดูแลรักษาความสะอาดเรียบร้อยในห้องผู้โดยสารและห้องน้ำ รวมทั้งให้บริการด้านอื่น ๆ ที่จะอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้โดยสาร

คุณสมบัติผู้ประกอบอาชีพ

แอร์โฮสเตส และ สจ๊วต เป็นอาชีพที่ให้บริการแก่ผู้โดยสาร ฉะนั้น ผู้ที่ประกอบอาชีพทางด้านนี้ ยังควรมีคุณสมบัติต่าง ๆ เช่น

  1. มีกิริยามารยาท สุภาพอ่อนโยน อบอุ่น และมีท่วงท่าที่นุ่มนวล
  2. มีบุคลิกภาพดี ยิ้มแย้มแจ่มใส มีความเป็นมิตรกับผู้อื่น และสามารถปรับตัวเข้ากับบุคคลอื่นและสังคมได้ง่าย
  3. มีความอดทนต่อความยากลำบากของงาน อดทนต่อปฏิกิริยาของผู้โดยสาร และมีความอดทนต่อเพื่อนร่วมงานต่างๆ
  4. แต่งตัวดี สะอาด และเรียบร้อย
  5. มีไหวพริบปฏิภาณในการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้ดี
  6. มีความสมบูรณ์ทั้งร่างกาย และจิตใจ
  7. มีใจรักงานทางด้านบริการ มีมนุษย์สัมพันธ์ดี และมีความห่วงใยเอาใจใส่อย่างจริงใจที่จะมอบให้แก่ผู้โดยสาร
  8. มีความรู้ภาษาอังกฤษ และภาษาต่างประเทศอื่น ๆ ได้ดี
  9. สามารถว่ายน้ำได้
  10. เป็นผู้ที่มีความรับผิดชอบต่อหน้าที่

การทำงาน

การทำงานของแอร์โฮสเตสและสจ๊วตนั้น เป็นเวลาที่ไม่แน่นอนไม่เลือกกลางวันหรือกลางคืน ขึ้นอยู่กับเที่ยวบินหรือสายการบินที่จะเดินทาง ว่าจะออกกี่โมงและในการเดินทางแต่ละครั้งทั้งสจ๊วต และแอร์โฮสเตสจะต้องกำหนดเวลาในการเดินทางไปสนามบินเผื่อไว้ทุกครั้ง โดยจะต้องเดินทางไปถึงสนามบินก่อนเครื่องบินออกอย่างน้อย 1 ชั่วโมง เพื่อเตรียมตัวและไม่ตกเครื่องบิน แอร์โฮสเตสและสจ๊วตจึงต้องเป็นผู้มีความรับผิดชอบอย่างสูง

ความก้าวหน้าในอาชีพ

ผู้ที่มีความรู้ความสามารถ มีความรับผิดชอบ มีมนุษย์สัมพันธ์ และมีความกระตือรือร้นในการทำงานอยู่เสมอ ย่อมมีโอกาสเลื่อนตำแหน่งไปสู่ตำแหน่งงานที่สูงกว่าและดีกว่า ตั้งแต่เริ่มแรก คือ เมื่อสจ๊วตและแอร์โฮสเตสได้รับการฝึกอบรมครบ 8 สัปดาห์แล้ว ก็จะเริ่มปฏิบัติงานจริง โดยในช่วงเดือนแรกจะเป็นช่วงของการทดลองงาน (บินภายในเอเชีย) จะมีการประเมินผลการปฏิบัติงาน จากหัวหน้างาน ซึ่งจะประเมินผลในทุก ๆ ด้าน เช่น การให้การบริการ การตรงต่อเวลา การร่วมมือประสานงานกัน การแสดงออก อารมณ์ และทัศนคติ เป็นต้น เมื่อพ้นช่วงทดลองงาน 6 เดือนแล้ว จึงสามารถที่จะไป ตะวันออกกลางและพอผ่านการทดลองงาน 1 ปี จึงสามารถบินข้ามทวีป แต่ก็ยังคงทำงานในชั้นประหยัด ( Economy Class ) เหมือนเดิม จนกระทั่ง 1 ปี 6 เดือน จึงจะมีสิทธิ์สมัครชั้นธุรกิจ ( Royal Executive Class )ได้ การคัดเลือกครั้งนี้จะพิจารณาจากประวัติการทำงาน พอพ้นจากชั้นธุรกิจจึงจะมีสิทธิ์สมัครทำงาน ในชั้นหนึ่ง ( Royal First Class ) ทุกครั้งที่เลื่อนชั้นการทำงานก็จะได้รับการอบรมเพิ่มเติมทั้งในด้านอาหาร เครื่องดื่ม การบริการ และการดูแลรักษาความปลอดภัยในกรณีฉุกเฉินเสมอ

ต่อไปเราจะมาพูดถึงจรรยาบรรณในวิชาชีพพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน ว่าสิ่งที่พนักงานต้อนรับบนเครื่องบินจะต้องมี เพื่อการทำงานของพวกเขาจะได้ประสบผลสำเร็จนั่นก็คือ จะต้องมีจรรยาบรรณต่อตนเอง จรรยาบรรณต่อองค์การ จรรยาบรรณต่อลูกค้า และสุดท้ายต้องมีจรรยาบรรณต่อสังคม คราวนี้เราจะมาทำความเข้าใจกันนะคะว่าแต่ละจรรยาบรรณนั้นจะต้องทำอย่างไรบ้าง

จรรยาบรรณต่อตนเอง

  1. พึงปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์ ยึดบรรทัดฐานความถูกต้องเต็มกำลังความสามารถ และสติปัญญา
  2. พึงภูมิใจในงานที่รับผิดชอบ และพัฒนาตนเองสู่ความเป็นมืออาชีพ
  3. พึงรักษาสุขภาพ และพัฒนาบุคลิกภาพให้เหมาะสมอยู่เสมอ
  4. พึงเอื้ออาทร มีความสามัคคี มีน้ำใจไมตรีต่อเพื่อนร่วมงาน
  5. พึงรักษากริยามารยาท ประเพณี และวัฒนธรรมอันดีงามของชาติ

จรรยาบรรณต่อองค์กร

  1. พึงมุ่งมั่นและอุทิศตนในการปฏิบัติหน้าที่ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด
  2. พึงส่งเสริม รักษา ชื่อเสียงเกียรติคุณ และภาพลักษณ์ให้เป็นที่เชื่อถือศรัทธามากยิ่งขึ้น
  3. พึงรักษาผลประโยชน์ และดูแลการใช้ทรัพยากร ให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุด
  4. พึงช่วยเหลือเกื้อกูล เสริมสร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน

จรรยาบรรณต่อลูกค้า

  1. พึงสร้างความมั่นใจ ในมาตรฐานด้านความปลอดภัยให้เป็นที่ประจักษ์กับลูกค้า
  2. พึงให้เกียรติ และดูแลลูกค้าด้วยความเสมอภาคเท่าเทียมกันโดยปราศจากอคติไม่เลือกปฏิบัติ
  3. พึงให้บริการด้วยความยิ้มแย้มแจ่มใส มีน้ำใจ สุภาพอ่อนโยน กระตือรือร้น ช่วยเหลือแก้ไขปัญหาเสมือนเป็นเจ้าบ้านที่ดี
  4. พึงสร้างความประทับใจให้ลูกค้าโดยมุ่งมั่นให้บริการด้วยคุณภาพอย่างมืออาชีพ
  5. พึงเคารพในสิทธิ ความเป็นส่วนตัวของลูกค้า

จรรยาบรรณต่อสังคม

  1. พึงมีจิตสำนึก เห็นคุณค่าของความพอเพียง ใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างประหยัด คุ้มค่า โดยให้สอดคล้องกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสภาพแวดล้อมที่ดี
  2. พึงส่งเสริม และประพฤติตนอยู่ในศีลธรรมอันดีงาม เพื่อเป็นตัวอย่างที่ดีของสังคม
  3. พึงแสวงหาโอกาสที่จะส่งเสริม และเผยแพร่วัฒนธรรมไทยสู่สังคมโลก
  4. พึงมีส่วนร่วมในการบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ สร้างคุณูปการให้สังคม ตามสมควรแก่อัตภาพและโอกาส
  5. พึงนิยมไทย ศรัทธาไทย ใช้ของไทย

เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้ใครที่มีความใฝ่ฝันที่จะทำงานในตำแหน่งพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน หรือเรามักจะเรียกสั้น ๆ ว่า แอร์โฮสเตส และสจ๊วตกันนะคะ ก็หมั่นนำสาระสำคัญและสิ่งที่ควรปฏิบัติเหล่านี้ไปศึกษาและฝึกฝนว่าเรามีคุณสมบัติเหมาะสมหรือไม่

ความคิดเห็นของคุณ

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่