Content Creator หรือเรียกชื่อหนึ่งว่า Content Writer เป็นอาชีพที่ไม่ต่างอะไรกับอาชีพฝีมือที่ต้องใช้ทั้งศาสตร์และศิลป์ โดยจำเป็นต้องใช้ภาษาที่สละสลวย เพื่อโน้มน้าวให้ผู้อ่านมีความสนใจและคล้อยตามไปกับงานที่ได้เขียนไว้ ปัจจุบันองค์กรต่าง ๆ ได้ให้ความสำคัญกับ Media Content มากหรือมีการสร้างเนื้อหาที่เป็นประโยชน์เพื่อดึงดูดความสนใจของผู้บริโภคผ่านช่องทาง Social Media ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น Facebook, Instagram, Linked In และช่องทางอื่น ๆ อีกมากมาย เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับธุรกิจ ทำให้อาชีพงานเขียนอย่าง Content Creator ได้รับความนิยมกันมากขึ้น ซึ่งหน้าที่หลักของสายงานนี้คือ การสร้างสรรค์เนื้อหาหรือเรียบเรียงข้อมูล แล้วนำมาเขียนใหม่ให้มีความน่าสนใจและตอบโจทย์ความต้องการของกลุ่มเป้าหมายที่อยากสื่อสารได้มากขึ้น ซึ่งอาชีพนี้ต้องมีการฝึกฝนอยู่ตลอดเวลา แม้ว่าไม่ได้เรียนจบด้านภาษามาโดยตรงก็ตาม หากเพื่อน ๆ คนไหนที่รักงานเขียนหรือสนใจจะทำงานในสายงานนี้ ลองอ่านบทความข้างล่างนี้ดูนะคะ แอดมินมีบทความดี ๆ มาให้อ่านและศึกษาข้อมูลกันค่ะว่าจะเป็นนักเขียนที่ดีนั้นต้องทำอย่างไรบ้าง
ประเภทของ Content Creator
1. Agency คือบริษัทหรือผู้ที่ได้รับจ้างจากแบรนด์เพื่อผลิตเนื้อหาให้ลูกค้าเจ้าต่าง ๆ ซึ่งระบบการทำงานของเอเจนซีจะแบ่งทีมทำงานออกเป็นดังนี้ คือ Creative, Account Executive และ Planner เป็นต้น โดยสายงานเขียนอยู่ในฝ่าย Creative มีหน้าที่สร้างสรรค์งานเขียนเชิงโฆษณาทั้งแบบข้อความสั้นและบทความขนาดยาว ซึ่งเอเจนซีบางองค์กรเรียกตำแหน่งงานนี้ว่า Copy Writer, Content Writer หรือ Social Media Specialist จนสามารถเติบโตเป็นระดับ Content Editor, Content Manager, Social Media Manager หรือ Online Strategist ได้ หากใครที่อยากทำงานเขียนในเอเจนซี ต้องมีความรู้เรื่องการตลาดเพิ่มเติม เช่น SEO, Branding และ Creative Writing
2. Branding งานเขียนระหว่างเอเจนซีและแบรนด์มีความแตกต่างตรงที่ฝั่งแบรนด์ไม่ต้องทำงานให้กับลูกค้าหลายเจ้า แต่มีหน้าที่รับผิดชอบงานเขียนเพื่อประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ หรือโปรโมทภาพลักษณ์ขององค์กรที่ทำงานอยู่ เป็นต้น ปัจจุบันหลายแบรนด์มีการสร้างทีมงาน Digital Content เพื่อทำการตลาดออนไลน์เองโดยไม่ต้องจ้างเอเจนซี เนื่องจากประหยัดเวลาและสามารถควบคุมงบประมาณได้ ตลอดจนสามารถสื่อสารกับพนักงานในองค์กรเอง โดยใช้เวลาที่น้อยกว่าและเข้าใจความต้องการขององค์กรได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ Content Creator ฝั่งแบรนด์สามารถเติบโตได้ดีมากกว่าในสายงาน PR และ Marketing Manager ได้อีกด้วย
3. สื่อสารมวลชน การทำงานและจุดประสงค์ขององค์กรสื่อมวลชนจะแตกต่างไปจากเอเจนซีและแบรนด์อย่างเห็นได้ชัด โดยการเน้นการผลิต content ที่ให้ความรู้กับสังคมหรือจุดประเด็นให้ผู้อ่านได้คิดวิเคราะห์ ผ่านการนำเสนอในรูปแบบ Editorial Content เช่น บทความ รายงานพิเศษ หรือบทสัมภาษณ์มากกว่าที่จะเป็น Marketing Content เพื่อโปรโมทสินค้า ซึ่งสายงานนี้สามารถเติบโตไปจนถึงระดับ Digital Editor และ Editor-in-Chief ในเว็บไซต์นิตยสารออนไลน์ หรือเว็บข่าวออนไลน์ต่าง ๆ เป็นต้น
ทักษะสำคัญในการเพิ่มเงินเดือน
1. ทักษะ SEO ทักษะนี้จะช่วยให้งานเขียนของคุณติดอันดับการค้นหาในอันดับต้น ๆ ของ Google เมื่อมีการค้นหาด้วย Keyword ที่คนส่วนใหญ่ค้นหาบ่อยในหมวดหมู่ของงานนั้น ๆ โดยบทความต้องใส่ URL ของ Keyword นั้น ๆ ด้วย เมื่อมีคนเข้ามาอ่านกันเยอะ ๆ ทำให้มียอดเข้าชมเว็บไซต์กันมากขึ้นตามไปด้วย ซึ่งทักษะ SEO เป็นทักษะที่นายจ้างมองหาในตัวของนักเขียน เพราะสามารถช่วยเพิ่มโอกาสในการโปรโมทสินค้าหรือบริการของแบรนด์นั่นเอง
2. ทักษะทางภาษา งาน Content Creator เป็นสายงานที่ต้องใช้ภาษาโดยตรง ดังนั้นจึงเป็นสายงานที่ต้องการคนที่ใช้ภาษาไทยอย่างถูกต้อง ไม่ผิดหลักไวยากรณ์ อย่างไรก็ตาม หากมีทักษะทางภาษาอังกฤษเพิ่มเติมอีกด้วย ก็จะช่วยให้นักเขียนสามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูลได้มากขึ้นและเป็นประโยชน์ต่องานเขียน ยิ่งถ้านักเขียนมีทักษะมากเท่าไร จะยิ่งช่วยเพิ่มโอกาสในการทำงานมากเท่านั้น ตลอดจนมีแนวโน้มได้เงินเดือนสูงอีกด้วย
3. ทักษะการเขียนบล็อกและสร้างเว็บไซต์ งานเขียนทางโซเซียลมีเดีย เปิดโอกาสให้ทุกคนได้แสดงความสามารถได้อย่างเต็มที่ จึงควรใช้สื่อออนไลน์เป็นช่องทางเผยแพร่ผลงานของตัวเองและพัฒนางานเขียนไปในตัว ซึ่งสำหรับน้องใหม่ที่ไม่มีประสบการณ์งานมาก่อนนั้น แอดมินแนะนำใช้เว็บไซต์เป็น Portfolio ประกอบการสมัครงาน ซึ่งปัจจุบันมีหลายเว็บไซต์ที่ให้บริการฟรี โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น นอกจากนี้หากงานเขียนบนเว็บไซต์ได้รับความนิยมและมีคนเข้ามาอ่านกันเยอะ ก็อาจเป็นช่องทางการสร้างรายได้อีกช่องทางหนึ่งหรือต่อยอดเป็นอาชีพเสริมได้อีกด้วย
4. ทักษะด้านการดีไซน์ ทักษะการออกแบบดีไซน์ นับว่าเป็นทักษะที่สำคัญอีกอย่างหนึ่ง ที่ช่วยกระตุ้นให้เกิดการจินตนาการและน่าสนใจมากยิ่งขึ้น เพราะปัจจุบันคนส่วนใหญ่มักจะไม่ชอบอ่านเนื้อหาบทความยาว ๆ แต่ชอบอ่านในรูปแบบของ Info-graphic ที่เข้าใจง่ายมากกว่า แต่หากคุณมีความรู้เรื่องการออกแบบเบื้องต้นแล้ว จะทำให้การสื่อสารการทำงานกับฝ่าย Graphic Designer ได้ชัดเจนกันมากขึ้นและตรงกับสิ่งที่อยากนำเสนออีกด้วย
เป็นอย่างไรบ้างคะ กับสายงานเขียนที่ต้องมีทักษะไม่ต่างไปจากงานฝีมือ ดังนั้นแค่มีใจรักงานเขียนอย่างเดียวก็ไม่เพียงพอ แต่จะต้องประกอบด้วยทักษะต่าง ๆ ที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น เพื่อช่วยให้งานเขียนมีความโดดเด่นและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยสายงานนี้ต้องหมั่นฝึกเขียนอย่างสม่ำเสมอ เพื่อโอกาสในการสมัครงานและเรียกเงินเดือนสูง ๆ ได้อีกด้วย