งานก่อสร้าง ถือว่าเป็นงานที่มีลักษณะพิเศษเฉพาะตัวและมีความแตกต่างไปจากงานอุตสาหกรรมโดยสิ้นเชิง ซึ่งงานก่อสร้างจำเป็นต้องทำให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของคุณภาพ ระยะเวลา และต้นทุนของการก่อสร้าง ดังนั้น การวางแผนที่ดีถือว่าเป็นเรื่องที่สำคัญมาก โดยทั่วไปแล้ว ผู้ที่เกี่ยวข้องในงานก่อสร้างจะแบ่งออกเป็น 5 อาชีพด้วยกัน ดังต่อไปนี้

5 อาชีพที่ต้องมีในโครงการก่อสร้าง

1. เจ้าของโครงการ

เจ้าของโครงการจะมีหน้าที่ในการจ่ายเงินให้แก่นักออกแบบและผู้รับเหมาก่อสร้าง โดยมีหน้าที่หลักๆ ดังนี้

  • เป็นผู้ที่ระบุถึงรายละเอียดและข้อกำหนดต่างๆให้กับโครงการ ไม่ว่าจะเป็น ความต้องการในการใช้งานอาคาร ปริมาณน้ำมันดิบที่จะต้องนำมาใช้กลั่นต่อวัน ปริมาณของก๊าซที่จะส่งไปตามท่อใน 1 ชั่วโมง
  • เป็นผู้กำหนดว่าจะมีบทบาทเกี่ยวข้องกับโครงการในขั้นตอนใดบ้าง เช่น ขั้นตอนการตรวจทานและขั้นตอนรายละเอียดงานต่างๆที่ต้องการ
  • เป็นผู้กำหนดปัจจัยต่างๆ โดยมีผลกับต้นทุนโดยรวม การใช้จ่ายต่างๆ ตลอดจนกำหนดช่วงเวลาของงานหลักและวันสิ้นสุดของโครงการ

2. ผู้ออกแบบ

ผู้ออกแบบในงานโครงการก่อสร้างจะประกอบไปด้วยสถาปนิกและวิศวกรต่างๆ โดยต้องตีโจทย์ความต้องการของเจ้าของโครงการให้อยู่ในรูปของการออกแบบและรายการข้อกำหนดต่างๆ ทั้งนี้เพื่อให้ผู้รับเหมาก่อสร้างได้ทำตามเจ้าของโครงการ จะมีหน้าที่หลักๆ ดังนี้

  • รับผิดชอบในการคำนวณการออกแบบให้ตรงไปตามทางเลือกต่างๆ
  • ทำแบบรูปและรายการข้อกำหนดต่างๆให้เป็นไปตามความต้องการของเจ้าของโครงการ
  • ออกแบบตามบทบัญญัติ ข้อกำหนด กฎหมายและมาตราฐานต่างๆที่เกี่ยวข้อง
  • กำหนดระยะเวลาให้สอดคล้องกับการกำหนดเวลาของเจ้าของโครงการ และต้องสอดคล้องกับระยะเวลาของผู้รับเหมาอีกด้วย
  • ตรวจงานก่อสร้างให้เหมาะสม พร้อมแจ้งให้เจ้าของโครงการทราบ
  • ตรวจแบบรายละเอียดในการก่อสร้าง
  • ประมาณค่าก่อสร้างคร่าวๆให้เจ้าของโครงการทราบเพื่อประกอบการตัดสินใจ
  • ให้คำแนะนำปรึกษาเมื่อเกิดปัญหาต่างๆในระหว่างการก่อสร้าง
  • กลั่นกรองการขออนุมัติการใช้วัสดุของผู้รับเหมาก่อสร้าง
5 อาชีพที่ต้องมีในโครงการก่อสร้าง

3. ผู้รับเหมาก่อสร้าง

ผู้รับเหมาก่อสร้างมีบทบาทหน้าที่ตามเอกสารสัญญา โดยประกอบไปด้วยแบบ รายการข้อกำหด ขอบเขตของงานและเงื่อนไขสัญญาต่างๆ เนื่องจากขั้นตอนการก่อสร้างนั้นจะเป็นขั้นตอนที่สำคัญมาก เพราะมีผลต่องบประมาณ และระยะเวลาที่อาจจะล่วงเลยบานปลายก็ได้ อีกทั้งยังมีค่าใช้จ่ายต่างๆสำหรับการบำรุงรักษาก็มีผลอย่างมากจากคุณภาพงานที่ดำเนินการในระหว่างการก่อสร้าง

ผู้รับเหมาก่อสร้างจะต้องประมาณค่าใช้จ่ายโครงการให้ออกมาใกล้เคียงกับความเป็นจริงที่สุด โดยการจัดทำกำหนดเวลาทำงานให้ออกมาในแนวทางที่เป็นไปได้ การจัดระบบควบคุมที่มีประสิทธิภาพ สำหรับใช้ควบคุมต้นทุน กำหนดระยะเวลาและคุณภาพของงาน

5 อาชีพที่ต้องมีในโครงการก่อสร้าง

4. ผู้บริหารโครงการก่อสร้าง

ผู้บริหารโครงการก่อสร้างอาจจะเป็นวิศวกรหรือสถาปนิก เศรษฐกร ผู้ประมาณราคา และช่างเขียนแบบโครงการที่สามารถทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาให้กับเจ้าของโครงการได้ ตั้งแต่เริ่มต้นโครงการจนกระทั่งโครงการสร้างแล้วเสร็จ โดยทั่วไปแล้วจะมีหน้าหลักๆ ดังต่อไปนี้

  • ต้องศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นด้านเทคนิควิศวกรรมและด้านการเงิน
  • คัดเลือกผู้ออกแบบโครงการที่เชี่ยวชาญ
  • ประมาณราคาอย่างเป็นขั้นตอน ตั้งประมาณราคาคร่าวๆ จนถึงประมาณราคาอย่างละเอียดเลย
  • คอยให้คำปรึกษาผู้ออกแบบในฐานะเจ้าของโครงการ
  • คัดเลือกผู้รับเหมา
  • ร่างเอกสารเรื่องราคา ต่อรองราคา ตลอดจนเซ็นสัญญา
  • ควบคุมงานก่อสร้าง โดยต้องขึ้นอยู่กับข้อตกลงของเจ้าของงาน
  • ประสานงานให้กับทุกฝ่าย รับและจ่ายเอกสารต่างๆ ที่มีความเกี่ยวข้องกับงานด้านการก่อสร้างที่ตนเองรับผิดชอบอยู่

ผู้บริหารโครงการ จะมีหน้ารับผิดชอบทุกอย่าง ยกเว้นการออกแบบและการแก้ไขแบบเท่านั้นที่ไม่ต้องทำ ดังนั้น ผู้บริหารโครงการจึงมีส่วนทำให้ราคาก่อสร้างถูกหรือแพง และให้งานออกมาดีหรือไม่ดีได้ทั้งนั้น

5 อาชีพที่ต้องมีในโครงการก่อสร้าง

5. ผู้ควบคุมงานก่อสร้าง

ผู้ควบคุมงานก่อสร้าง จะมีหน้าที่ตรวจสอบงานก่อสร้าง เพื่อคอยเช็คดูว่างานนั้นออกมาตามรูปแบบและข้อกำหนดในสัญญา ข้อตกลงการว่าจ้างระหว่างผู้ว่าจ้างและผู้รับจ้างหรือไม่ เรียกได้ว่าเป็นผู้คุ้มครองด้านผลประโยชน์ของเจ้าของงาน ตลอดจนขอบเขตหน้าที่และความรับผิดชอบที่มักเน้นไปทางด้านเทคนิควิศวกรรม ดังต่อไปนี้

  • เป็นตัวแทนเจ้าของงาน ทำหน้าที่ในการตรวจสอบคุณภาพงานจากผู้รับเหมาในระหว่างที่กำลังการก่อสร้างเพื่อให้เป็นไปตามรูปแบบ ข้อกำหนด และเงื่อนไขต่างๆตามที่สัญญาได้ระบุไว้
  • ควบคุมคุณภาพงานขององค์กรให้เป็นไปตามข้อกำหนดและมาตราฐานที่ได้กำหนดเอาไว้
  • ป้องกันความเสียหายต่างๆที่ก่อให้เกิดแก่ชีวิตและทรัพย์สิน โดยอาจจะเกิดขึ้นจากความผิดพลาด ความเข้าใจผิด หรือความไม่รับผิดชอบของผู้ทำงาน
  • เป็นผู้ควบคุมเพื่อให้งานออกมาสำเร็จถูกต้อง ได้มาตราฐานและปลอดภัย

ดังนั้น ขอบเขตหน้าที่รับผิดชอบงานแต่ในละฝ่ายล้วนขึ้นอยู่กับความรู้ ความสามารถและประสบการณ์เป็นหลัก โดยการทำงานของแต่ละโครงการนั้น จำเป็นต้องระบุหน้าที่รับผิดชอบของแต่ละฝ่ายที่เกี่ยวข้องอย่างชัดเจน เพื่อหลีกเลี่ยงการทำงานที่ซ้ำซ้อนหรือทำงานที่ไม่มีใครทำ

ความคิดเห็นของคุณ

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่